กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศควบคุมบริษัทจัดส่งผู้ดูแลเด็กที่บ้านตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พี่เลี้ยงต้องเป็นมืออาชีพจริง มีมาตรฐานความรู้ โดยผ่านการอบรมอย่างดีตั้งแต่ 70-210 ชั่วโมง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2550 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะชี้แจงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในต้นปีหน้านี้ วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2550) แพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัยและคณะ เดินทางไปเยี่ยมน้องเอ็มเจ หรือเด็กชายมิ้ง อาชวุฒิกุลวงศ์ ที่บริษัทอินเนอร์รูม กทม. ซึ่งเคยถูกพี่เลี้ยงสาวใจโหด ทำร้าย ได้รับบาดเจ็บสาหัส กะโหลกศีรษะแตก เนื้อสมองบวม มีรอยช้ำที่หน้าอก หน้าท้อง เข่าซ้าย และแข้งซ้ายเป็นแห่งๆ กระดูกซี่โครงหัก ไม่รู้สึกตัว เนื่องจากพี่เลี้ยงโมโหที่น้องเอ็มเจร้องไห้ไม่ยอมหยุด เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ในขณะที่อายุได้ 23 วัน ขณะนี้ได้ออกจากโรงพยาบาลมาพักอยู่ที่บ้าน โดยได้นำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก มาติดตามอาการและให้คำแนะนำ พร้อมทั้งได้มอบกระเช้าหนังสือในโครงการหนังสือเล่มแรก หรือบุ๊คสตาร์ท (Book Start) เพื่อพัฒนาไอคิว อีคิว (IQ และ EQ) เด็กให้สมวัย และหนังสือนิทานต่างๆ แพทย์หญิงมยุรา กล่าวว่า จากการเยี่ยมอาการน้องเอ็มเจในวันนี้ น้องเอ็มเจมีอายุ 8 เดือนเศษๆ พบว่ายังมีปัญหาทางสมองที่ถูกกระทบกระเทือน ทำให้มีพัฒนาการล่าช้า แขนทั้ง 2 ข้างมีอาการเกร็งเล็กน้อย เหยียดมือได้ เริ่มนั่งได้มั่นคง และเริ่มมีการออกเสียงและแสดงอาการดีใจเมื่อเจอหน้าผู้คน แพทย์ต้องให้ยาควบคุมอาการชัก พ่อแม่ของน้องเอ็มเจ ได้จ้างนักกายภาพบำบัดมาดูแลสัปดาห์ละ 3-4 วัน จากการประเมินพัฒนาการด้านร่างกาย พบว่าน้ำหนัก ส่วนสูง อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เนื่องจากพ่อแม่ได้ดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก ความห่วงใย และกระทรวงสาธารณสุขได้มอบคู่มืออาหารเด็กตามวัยให้พ่อแม่น้องเอ็มเจแล้วจากการเยี่ยมครั้งก่อน แพทย์หญิงมยุรา กล่าวต่อไปว่า จากกรณีของน้องเอ็มเจนี้ สะท้อนถึงแนวทางการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ยุคใหม่ในสังคมเมือง ที่ต้องช่วยกันทำงานนอกบ้าน ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองได้ ต้องจ้างพี่เลี้ยงช่วยดูแลเด็กที่บ้าน เด็กรุ่นใหม่ประมาณร้อยละ 30 เติบโตจากมือพี่เลี้ยงมากกว่าพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิด หลายกรณีพบว่า พี่เลี้ยงที่ส่งไปดูแลเด็กนั้นไม่มีคุณภาพ ขาดความรู้ในการดูแลเด็กอย่างถูกต้อง และก่อให้เกิดปัญหาต่อเด็กและครอบครัว กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย โดยได้ออกประกาศกำหนดให้การประกอบกิจการให้บริการส่งพนักงานไปเลี้ยงและดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุไม่เกิน 6 ปีที่บ้าน ไม่ว่าจะมีสถานที่รับเลี้ยงเด็กหรือสถานที่ฝึกอบรมพนักงานอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2550 แพทย์หญิงมยุรา กล่าวต่ออีกว่า ตามประกาศกระทรวงฉบับนี้ จะทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ได้รับการเลี้ยงดูจากพี่เลี่ยงเด็กที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีอำนาจดูแลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถนำไปใช้บังคับผู้ได้รับใบอนุญาต ผู้ดำเนินกิจการ และพนักงานเลี้ยงหรือผู้ดูแลเด็กที่บ้าน โดยคณะกรรมการสาธารณสุขได้เห็นชอบกับคำแนะนำของคณะกรรมการ เพื่อเป็นแนวทางให้ท้องถิ่นสามารถนำไปตราเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อควบคุมสถานประกอบการประเภทนี้ได้เลย ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงในการควบคุมกิจการให้บริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน ผู้ประกอบกิจการต้องขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก่อนประกอบกิจการ และต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีตามที่อปท. กำหนด แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท โดยผู้ประกอบกิจการต้องจัดส่งพนักงานพี่เลี้ยงตามคุณสมบัติที่กำหนดให้ผู้รับบริการ และต้องจัดระบบการให้บริการ เช่น ระบบรายงาน ระบบการควบคุมพนักงานพี่เลี้ยง การอบรมฟื้นฟูให้พนักงานพี่เลี้ยง สามารถตรวจสอบได้ หากผู้ประกอบการฝ่าฝืน คือ ไม่ได้ขออนุญาต หรือประกอบการไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติท้องถิ่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ หรือและออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วย สำหรับหลักเกณฑ์ของพนักงานพี่เลี้ยงหรือดูแลเด็กที่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กนั้น จะต้องมีอายุไม่ ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการแพทย์ การสาธารณสุขหรือการศึกษา โดยเฉพาะสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย หรือปริญญาตรีสาขาอื่นต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการเลี้ยงและดูแลเด็กปฐมวัย จำนวน 210 ชั่วโมงที่จัดโดยกรมอนามัย หรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ หากจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี หรือ ม.6 ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการเลี้ยงและดูแลเด็กอย่างน้อย 420 ชั่วโมง กรณีที่มีประสบการณ์เลี้ยงและดูแลเด็กปฐมวัยในโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมีใบรับรอง ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเสริมการเลี้ยงและดูแลเด็กปฐมวัยอีกอย่างน้อย 70 ชั่วโมง เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงมืออาชีพ มีสุขภาพแข็งแรง ต้องไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี และไม่มีประวัติการกระทำผิดต่อเด็กหรือละเมิดสิทธิเด็ก ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และไม่เป็นผู้ติดสารเสพติด ต้องเลี้ยงดูเด็กตามกิจวัตรประจำวัน สังเกตพฤติกรรม รายงานผู้ปกครองทราบ และดูแลสภาพแวดล้อมให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เพื่อส่งให้ท้องถิ่นทุกแห่งต่อไป และจะจัดประชุมชี้แจงเรื่องการควบคุมการประกอบกิจการตามกฎหมาย และการสนับสนุนพัฒนาพี่เลี้ยงให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ในเดือนมกราคม 2551 และได้กำหนดหลักสูตรที่จะสนับสนุนการฝึกอบรมให้พนักงานพี่เลี้ยงต่อไป โดยได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาจัดทำหลักสูตรเมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม 2550 ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจทานเนื้อหาหลักสูตร นายแพทย์ ณรงค์ศักดิ์ กล่าว ********************************** 19 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 10    19/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ