“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข สร้างความปลอดภัยอาหารในโรงพยาบาล ครอบคลุมโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งภายในปี 2561 ลดการป่วย ลดรายจ่ายจากโรคที่มาจากการปนเปื้อนในอาหาร สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ เพิ่มนวัตกรรมทางการเกษตร
วันนี้ (25 มกราคม 2561) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ศาสตราจารย์คลินิกพิเศษ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุขแก่โรงพยาบาลชุมชน 780 แห่งทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์คลินิกพิเศษ นายแพทย์เสรี กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งเป็นโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ผู้ป่วยและญาติได้รับประทานอาหารที่สะอาด ผักผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารเคมี โดยมีการควบคุม ตรวจสอบ คุณภาพความปลอดภัยของอาหารทุกกระบวนการตามเกณฑ์ที่กำหนด ตั้งแต่การผลิต วัตถุดิบ การขนส่ง การปรุง รวมทั้งให้จัดพื้นที่จำหน่ายผักและผลไม้ปลอดสารพิษที่ได้มาตรฐานและสินค้าเกษตรแปรรูปที่ปลอดภัยในโรงพยาบาล เพื่อให้ลดการป่วยและรายจ่ายด้านสุขภาพจากโรคที่มีผลจากสารปนเปื้อนในอาหาร และสนับสนุนเกษตรกรด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทย ในปีงบประมาณ 2560 ดำเนินการแล้วในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง รวม 116 โรงพยาบาล ในปี 2561 จะขยายไปสู่โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศให้ครบทั้ง 780 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ พร้อมนำผลการดำเนินงานของ รพศ./รพท. มาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลชุมชน ใช้ 3 กลยุทธ์ คือ 1.การสื่อสารนโยบาย สร้างความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน 2.สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ให้โรงพยาบาลจัดเมนูรายการอาหารที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เพิ่มรายได้เกษตรกร การจัดเมนูรายการอาหารและวัตถุดิบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน และ3.การควบคุมมาตรฐาน โดยการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในโรงพยาบาลต้นแบบ 5 โรงพยาบาล ได้แก่ รพ.นครปฐม รพ.อำนาจเจริญ รพ.แพร่ รพ.ตรัง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ พบว่าผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษในพื้นที่ลดลง เช่นเขตสุขภาพที่ 5 สามารถลดอัตราการเกิดโรคอุจจาระร่วงจาก 1,822 เหลือเพียง 1,291 ต่อแสนประชากร โรคอาหารเป็นพิษจาก 125.65 เหลือ 96.17 ต่อแสนประชากร ทำให้ประชาชนลดรายจ่ายจากโรคที่เกิดจากสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร รวมทั้งเกิดนวัตกรรมเมนูอาหารสุขภาพมากมาย ลดหวานมันเค็ม เช่นที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ใช้ใบหญ้าหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งให้สรรพคุณความหวานกว่าน้ำตาล 10 – 15 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนและโรคหัวใจ
**************************** 25 มกราคม 2561