“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 123 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มความเข้มข้น พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งจะครบรอบ 10 ปี ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ เพื่อดูแลประชาชนและเยาวชนให้รู้เท่าทันพิษภัยและลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้แทนแพทยสมาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เปิดงาน “1 ทศวรรษ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่ถือเป็นปัญหาระดับชาติและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันแก้ไข โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว จะครบรอบ 10 ปี ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ ที่ผ่านมาได้สร้างมาตรการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไทยให้ห่างไกล รู้เท่าทัน รวมถึงตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ให้เข้าถึงได้โดยง่าย เช่น ห้ามจำหน่ายในสถานที่ราชการ สถานศึกษาและสถานีขนส่ง เป็นต้น ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากเวลา 11.00–14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20ปี บริบูรณ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จำกัดสถานที่ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย และห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อ เครื่องหมายของเครื่องดื่ม อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ ชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวต่อว่า จากข้อมูลสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับการใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่า ไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษาได้ ร้อยละ 96.72 และรับรู้น้อยในประเด็น ไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการลด แลก แจก แถม ร้อยละ 48.93 ดังนั้นจึงต้องสร้างการรับรู้และเผยแพร่เกี่ยวกับกฎหมายการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ สถานการณ์บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านมามีแนวโน้มนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือเยาวชนและนักดื่มเพศหญิง ดังนั้นในทศวรรษที่ 2 เป้าหมายระดับชาติยังคงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มแข็ง ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดความชุกของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยดำเนินงานร่วมกับชุมชนต้นแบบ ชมรมคนหัวใจเพชร พัฒนาระบบบำบัดสุรา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในคลินิก NCDs โดยเฉพาะการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กและเยาวชน และพัฒนาอนุบัญญัติกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้ครอบคลุมและทันสมัยต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของปัจจุบันและในอนาคต
********************** 7 กุมภาพันธ์ 2561