“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุก องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลชุมชนต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยโรคไตแบบครบวงจร
บ่ายวันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2561) ที่ โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.ศรีสะเกษ พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุก องคมนตรี รองประธานมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยมี นายแพทย์กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และคณะให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาล โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรับไว้ในความอนุเคราะห์ของมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล
โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ดูแลประชาชน 36,178 คน บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 220 คนต่อวัน ผู้ป่วยในเฉลี่ย 20 คนต่อวัน โรคที่พบบ่อยคือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีความโดดเด่นด้านการดูแลผู้ป่วยโรคไต เป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยโรคไตแบบครบวงจร โดยเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยโรคไตระดับจังหวัด มีคลินิกชะลอไตเสื่อม (CKD Clinic) ดูแลผู้ป่วย 480 คน มีคลินิกล้างไตทางช่องท้อง สอนผู้ป่วยและญาติล้างไตทางช่องท้อง และมีระบบการติดตามตรวจเยี่ยมบ้าน มีผู้ป่วยรับบริการล้างไตทางช่องท้อง 116 คน ในปี 2560 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ คลินิกไตเรื้อรังดีเด่นระดับประเทศจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
โดยในปี 2561 มีแผนการพัฒนาต่อเนื่อง สู่อัตลักษณ์ “โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล” (More than Hospital) ใน 6 เรื่องคือ 1.พัฒนางานอนามัยสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในโรงพยาบาล (GREEN & CLEAN Hospital) ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับดีมาก 2.เพิ่มบริการหน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ใกล้บ้าน ใกล้ใจ 12 เตียง 3.จัดบริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกครบวงจร 4.พัฒนางานคุณภาพและมาตรฐานบริการให้ผ่านการประเมินคุณภาพ HA 5.ผ่านการประเมินโรงพยาบาลคุณธรรม 6.เปิดบริการคลังเลือดในโรงพยาบาล (blood bank) เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปขอเลือดที่โรงพยาบาลจังหวัด รองรับการเป็นศูนย์รับส่งต่อในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ
นอกจากนี้ ได้น้อมนำหลักคำสอนและการปฏิบัติงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยจัดตั้งชมรมห้องพระ ห้องสมุด กีฬา สวนสมุนไพร สุขศาลา จิตอาสา และเกษตรพอเพียง ให้เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อส่วนรวม และเปิดพื้นที่ในโรงพยาบาลให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าหน้าที่
*************************** 7 กุมภาพันธ์ 2561