กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดยุติ “เอดส์และวัณโรค” ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงอันดับ 1 ถึงร้อยละ 13-14 เร่งรัดค้นหาวัณโรค โดยการเอกซเรย์ปอดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทุกรายและรายเก่าที่มีอาการ รวมทั้งทดสอบทางผิวหนังค้นหาวัณโรคแฝงเพื่อรีบรักษา
วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมการบริหารจัดการเชิงนโยบายเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ครั้งที่ 2/2561 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการบูรณาการฐานข้อมูลโรค ความจำเป็นการในเอกซเรย์ทรวงอกประจำปีในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และการให้ยาป้องกันวัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญปัญหาการติดเชื้อวัณโรคในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี (เอดส์) เพราะประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่พบวัณโรคร่วมกับเอดส์สูง ได้บูรณาการการดำเนินงานของสำนักโรคเอดส์ฯ และสำนักวัณโรค เพื่อยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อยที่สุด 1 ใน 3 ในผู้ป่วยเอดส์ เป็นเหตุให้เสียชีวิตมากที่สุด โดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ป่วยเป็นวัณโรคจะมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 13–14 หรือทุก 7 คนมีเสียชีวิต 1 คน ในขณะที่ผู้ติดเชื้อวัณโรคที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีจะมีอัตราการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ดังนั้นหากวัณโรคถูกวินิจฉัยและเริ่มการรักษาที่รวดเร็ว จะลดอัตราการเสียชีวิต ลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในชุมชน รวมทั้งการค้นหาผู้สัมผัสร่วมบ้านรวดเร็วจะช่วยยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคป้องการระบาดในวงกว้างได้สำเร็จ
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อยุติเอดส์และวัณโรค มี 2 เรื่องสำคัญคือ การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อบูรณาการเชื่อมโยงให้เป็นโปรแกรมเดียว ข้อมูลชุดเดียวกันลดความซ้ำซ้อนของการบันทึกข้อมูล รวมถึงให้มีคืนข้อมูลให้พื้นที่ได้ใช้ประโยชน์โดยประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างใกล้ชิด และการเอกซเรย์ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อคัดกรองวัณโรค รวมทั้งการรักษาวัณโรคที่แฝงตัวอยู่โดยยังไม่ปรากฏอาการ
สำหรับการดำเนินงานมีรายละเอียด ดังนี้ 1.คัดกรองวัณโรคด้วยการเอกซเรย์ปอดในผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทุกราย ประมาณ 28,000 รายต่อปี 2.สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายเก่า จะเอกซเรย์ผู้ที่มีอาการไอผิดปกติ มีไข้ น้ำหนักลด เหงื่อออกผิดปกติกลางคืน รวมทั้งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดวัณโรค 3.ค้นหาวัณโรคแฝงในผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ด้วยการทดสอบทางผิวหนัง หากให้ผลบวกจะรักษาทันที ในปี 2561 นำร่องดำเนินการคัดกรองวัณโรคแฝงด้วยการทดสอบทางผิวหนัง ในโรงพยาบาล 31 แห่งและเรือนจำ 58 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลกและสำนักวัณโรค ในอนาคตจะผลักดันการทดสอบและรักษาวัณโรคแฝงเข้าชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป
********************************** 16 กุมภาพันธ์ 2561
View 27
16/02/2561
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ