กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าเร่งรัดมาตรการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ค้นหาติดตามผู้สัมผัสทุกคน ให้ได้รับวัคซีนครบ 100%  และสามารถลดจำนวนคนถูกกัดในพื้นที่เสี่ยง
                นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการป้องกันควบคุมและดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ครั้งที่ 1/2561 ที่ทรงห่วงใยและมีพระประสงค์ลดปัญหาสุนัขจรจัด กวาดล้างโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย และเพิ่มการฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยงมากกว่าร้อยละ 80   
              นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561-กุมภาพันธ์ 2561 พบสุนัข-แมวเป็นพิษสุนัขบ้า จำนวน 247 ตัว สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่าและพบผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย ที่จังหวัดสุรินทร์และสงขลา ทั้งสองรายถูกลูกสุนัขกัด เห็นว่าเป็นแผลเล็กน้อย และไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดมาตรการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ให้ดำเนินการตาม “มาตรการ 1-2-3” ดังนี้  (1) กรณีที่พบสัตว์ป่วย ให้กรมปศุสัตว์และกระทรวงสาธารณสุข แจ้งข่าว สอบสวน ควบคุมโรคร่วมกัน (2) ติดตามผู้สัมผัสโรคมารับวัคซีน ภายใน 2 วัน (3) สอบสวนและควบคุมโรคในพื้นที่ แจ้งข้อมูล และฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดเหตุ ในรัศมีอย่างน้อย 3 กิโลเมตร และให้เพิ่มความเข้มข้นหากพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า โดยในระดับจังหวัดใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สอบสวน ค้นหา ติดตาม ทั้งคนและสัตว์ในทุกอำเภอ เพื่อลดจำนวนคนถูกกัดในพื้นที่เสี่ยง ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ส่ง อสม. เคาะประตูบ้าน ทำการสื่อสารความเสี่ยงในวงกว้าง และให้วัคซีนรอบจุดเกิดโรค ในส่วนของระดับอำเภอและตำบลใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ดำเนินการ 
          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า เป้าหมายของมาตรการเร่งรัดการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าคือ ค้นหาติดตามผู้สัมผัสทุกคนมารับวัคซีนได้ครบ 100% ลดจำนวนคนถูกกัดในพื้นที่เสี่ยง ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ เร่งรัดการควบคุมโรคในพื้นที่โรคเกิดโรคในสัตว์อย่างเข้มข้น  โดยขอร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ นำสุนัข-แมวไปรับวัคซีนเป็นประจำทุกปี ทำหมัน และเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่นำไปทิ้งในที่สาธารณะเพิ่มภาระให้สังคม
         “สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการร่วมมือป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัข-แมวในจำนวนที่พอเหมาะ คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบ้าน อย่าปล่อยออกไปนอกบ้านเพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ หากทุกคนช่วยกัน จะลดการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างแน่นอน ขอย้ำว่า เมื่อถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างบาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อประเมินว่าต้องรับวัคซีนหรือไม่ และต้องมาฉีดวัคซีนให้ตรงตามนัดทุกครั้ง เพราะวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีดให้ครบชุดจึงจะได้ผล ไม่เช่นนั้นจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และเสียชีวิตทุกราย” นายแพทย์โอภาสกล่าวเพิ่มเติม 
 
                                                        ******************************************* 24 กุมภาพันธ์ 2561
 
 
 
 
 


   
   


View 22    24/02/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ