กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กำชับ 9 จังหวัดภาคเหนือ เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากปัญหาหมอกควัน  โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ให้ทีมหมอครอบครัวและอสม.ติดตามเยี่ยมบ้าน  

บ่ายวันนี้ (9 มีนาคม 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี  นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์   รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Operation center : OC) ในการดูแลสุขภาพประชาชนกรณีหมอกควัน ปี 2561 และประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ นายแพทย์สาธารณสุข 9 จังหวัดภาคเหนือได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และตาก 
 
นพ.โอภาส กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงปัญหาหมอกควัน ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ ทำแผนรองรับผลกระทบต่อสุขภาพจากหมอกควัน รวมทั้งให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2561 ซึ่งจากนี้ไปจนถึงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงวิกฤตปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่เกิดขึ้นทุกปี  จากการเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 มกราคม–5 มีนาคม 2561 พบแนวโน้มปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา บางพื้นที่อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพคือสูงกว่า 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการส่วนกลาง เพื่อให้การสนับสนุนและติดตามการทำงานของจังหวัด ขณะนี้ได้ส่งหน้ากากอนามัยไปยังพื้นที่แล้ว 290,000 ชิ้น สำรองไว้ที่ส่วนกลาง 35,000 ชิ้น และจะจัดเตรียมเพิ่มอีก 200,000 ชิ้น
 
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า จากการติดตามพบว่าทั้ง 9 จังหวัดดำเนินการได้ดี ได้มีข้อสั่งการดังนี้ 1.เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ ระดับจังหวัด เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา ติดตามผลกระทบด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิด 2.ดูแลประชาชนให้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพน้อยที่สุด แนะนำให้ความรู้ในการปฏิบัติตัว เน้นในกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ หากสถานการณ์ฉุกเฉินให้ส่งทีมหมอครอบครัวและอสม. ออกเยี่ยมบ้านดูแลกลุ่มเสี่ยง 3.ให้สถานพยาบาล เตรียมยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ออกซิเจน พร้อมให้บริการผู้ป่วย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และแจกจ่ายหน้ากากอนามัย 4.มอบกรมอนามัยเฝ้าระวังค่า PM10 สำนักงานควบคุมโรคที่ 1 ติดตามผลกระทบสุขภาพ และแจ้งเตือนประชาชน 
 
5.เตรียมแผนสำรองห้องสะอาดจัดเตรียมห้องสะอาด (Clean Room) ที่สำนักงานและสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ รวมทั้งส่งเสริมให้ท้องถิ่นและประชาชนจัดเตรียมห้องสะอาดไว้ พร้อมสำรวจกลุ่มเสี่ยงหากเกิดภาวะวิกฤตขึ้น สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที 6.ประสานการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการในทิศทางเดียวกัน 7.ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลปีที่ผ่านมาพบว่าอีก 2 สัปดาห์จะเป็นช่วงที่ค่า PM10 สูงสุด และ8.หากมีเหตุฉุกเฉินให้รีบดำเนินการและรายงานศูนย์ปฏิบัติการฯ ส่วนกลางทันที
 
ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ติดตามสถานการณ์และปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการออกนอกสถานที่มีควันไฟหรือหมอกควัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรพักผ่อนอยู่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม งดเว้นการสูบบุหรี่ เผาหญ้า ต้นไม้ หรือขยะต่างๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งและการทำงานต้องออกแรงมากในบริเวณที่มีหมอกควัน ใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ไอ ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
 
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2561 มีรายงานพบผู้ป่วย 31,159  ราย มากที่สุดคือ โรคทางเดินหายใจ 11,386 ราย รองลงมาคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด 10,811 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โรคตาอักเสบ 1,102ราย และโรคผิวหนังอักเสบ 1,068 ราย รวมผู้ป่วย สะสมตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2560 – 3 มีนาคม 2561 จำนวน 381,952 ราย มากที่สุดคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือโรคทางเดินหายใจ โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ  
 ****************************************   9 มีนาคม 2561
 
 
 
 
 
 


   
   


View 31    09/03/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ