กระทรวงสาธารณสุข มุ่งพัฒนาบุคลากร ระบบบริการ และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพระบบแพทย์ฉุกเฉินของประเทศก้าวเข้าสู่ประเทศไทยยุค4.0

     วันนี้ (11 มีนาคม 2561ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 12 จัดโดยวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (วฉท.) ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และปาฐกถาพิเศษ“Emergency Care System 4.0” โดยมีเนื้อหาสำคัญ ว่า การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย เกิดขึ้นจากพื้นฐานความเสียสละของทีมบุคลากรที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นในยามวิกฤติเดือดร้อน คำว่าการแพทย์ฉุกเฉินนั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะตัวแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงบุคลากรในทีมทุกคน ซึ่งมีความสำคัญเท่าเทียมกันที่ต้องทำงานสอดประสานกันจนได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อผู้ป่วยและประชาชน ซึ่งการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีประสิทธิภาพและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน        

          สำหรับสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นการแพทย์ฉุกเฉินยุค 4.0 ได้อย่างแท้จริง มี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.การพัฒนาคนหรือบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและมีจำนวนเพียงพอ2.พัฒนาระบบให้มีมาตรฐานตอบสนองต่อบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์และพื้นที่ได้และ3.การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

          “ขอให้บุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน รณรงค์ให้ประชาชนคำนึงถึงความปลอดภัย โดยให้ความรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่างๆและต้องขอขอบคุณบุคลากรทุกคนที่อุทิศตนทำงานหนักเพื่อประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการช่วยชีวิตผู้อื่นซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและเชิดชูไว้ตลอดไป” .คลินิกเกียรติคุณนพ.ปิยะสกล กล่าว

          ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั้งระบบ ตั้งแต่ ณ จุดเกิดเหตุ โดยมีศูนย์สั่งการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นทั้งศูนย์รับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 สามารถประเมินสั่งการช่วยเหลือและประสานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่เหมาะสมที่สุดได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

 

ด้านเรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้ กิจกรรมในงานประกอบด้วย การประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 12 การประชุมประจำปีวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยครั้งที่ 2 และการประชุมวิชาการประจำปีวุฒิบัณฑิตวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยครั้งที่ 7 ถือเป็นเวทีทางวิชาการที่สำคัญมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คนประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน นักศึกษา และอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงมีการมอบรางวัลและเข็มเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ที่เสียสละทุ่มเท อุทิศตนในการทำงานให้การช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศอีกด้วย

                    **************************************** 11 มีนาคม 2561

 

 

 

 

 



   
   


View 29    11/03/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ