พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลด้านสังคม คืนผู้สูงอายุจากติดบ้าน ติดเตียง สู่สังคม และนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่เข้ารักษาโรงพยาบาลใกล้ที่สุด ไม่ต้องสำรองจ่าย 72 ชั่วโมงแรก

วันนี้ (21 มีนาคม 2561) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล กทม. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ร่วมกันแถลงผลงานสำคัญด้านสังคมของรัฐบาล

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 มีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากร ด้วยวิสัยทัศน์ ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม ตามยุทธศาสตร์ 3S คือ Strong สุขภาพแข็งแรง Security มั่นคงปลอดภัย และ Social Participation มีส่วนร่วมในสังคม บูรณาการความร่วมมือ 4 กระทรวง คือ มหาดไทย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการ และสาธารณสุข นำนโยบายสู่การปฏิบัติ สร้างกลไกการทำงานให้เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

          ในปี 2561 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 1,159.2 ล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมา 259 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ได้รับการดูแล 193,200 คน ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา และได้จัดอบรมผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ 7,391 คน ผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุ 50,146 คน มีตำบลที่เข้าร่วมโครงการ 4,512 ตำบล ช่วยให้ผู้สูงอายุพ้นจากภาวะติดเตียง ติดบ้าน กลับเข้าสู่สังคมได้มากขึ้น เกิดนวัตกรรมโดดเด่นเป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่อื่น เช่น การบริหารทุ่งตะโกโมเดล จ.ชุมพร การใช้หมอครอบครัวดูแลผู้สูงอายุของ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ การดำเนินงาน LTC เข้มแข็งโดยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายองค์กรในชุมชน ต.กุง อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ สำหรับในเขตเมืองทีมหมอครอบครัว ทีมสหวิชาชีพที่เข้มแข็งดูแลผู้สูงอายุของศูนย์บริการสาธารณสุข 52 สามเสนนอก กทม.

ด้านศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) เป็นครั้งแรกที่คนไทยทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐานในโรงพยาบาลของรัฐทุกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือไปถึงเร็วที่สุดโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในช่วง 72 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นจะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดหรือโรงพยาบาลที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ลดความพิการ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

       ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อ 1 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ 14,180 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.ร้อยละ 45  ส่วนใหญ่ร้อยละ 88 เป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้มาจากการบาดเจ็บ 5 อันดับแรก คือ กลุ่มอาการหายใจลำบาก/ติดขัด กลุ่มอาการเจ็บแน่นทรวงอก/ หัวใจ/ มีปัญหาทางด้านหัวใจ กลุ่มอาการอัมพาต (กำลังกล้ามเนื้ออ่อนแรง)เฉียบพลัน กลุ่มอาการไม่รู้สติ/ ไม่ตอบสนอง/ หมดสติชั่ววูบ และกลุ่มอาการหัวใจหยุดเต้น  เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร้อยละ 64 สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ร้อยละ 17 ประกันสังคมร้อยละ 13 และอื่น ๆ ร้อยละ 5 คิดเป็นเงินที่จ่ายในระบบ UCEP 246 ล้านบาท หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิ UCEP โทร. 02 872 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง         

  

 

 ******************************************* 21 มีนาคม 2561



   
   


View 33    21/03/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ