ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ขอความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อลดการบาดเจ็บจากการจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 1/2561 ว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551  ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 โดยส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความร่วมมือในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ได้แก่ 1.ห้ามดื่มบนทางในขณะขับขี่หรือโดยสารยานพาหนะ 2.ห้ามขายบนทาง 3.ห้ามขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด 4.ห้ามขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ 
 
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินโครงการ “ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต” สำหรับกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ในผู้ขับขี่ทุกราย หากไม่สามารถตรวจวัดแอลกอฮอล์ทางลมหายใจได้ จะส่งตัวผู้ขับขี่ไปเจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ที่ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำผลไปประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และในกรณีที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ที่สงสัยว่าดื่มสุรา ให้โรงพยาบาลรายงานและแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเพื่อสอบสวนหาผู้กระทำผิด
 
ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ว่า จากการลงพื้นที่พบผู้ประกอบการ ร้านค้า ที่เข้าดำเนินการกว่าร้อยละ 80  แจ้งว่าไม่ทราบกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรคจึงได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่าผู้ประกอบการ ร้านค้าส่วนใหญ่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้าง ร้อยละ 66 ไม่มีความรู้เลย ร้อยละ 14 ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 91 คิดว่าผู้ที่จะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีความรู้เรื่องของกฎหมาย และการให้ข้อมูลนั้นควรใช้เวลาประมาณ 5 – 10 นาที กรมควบคุมโรคและกรมสรรพสามิต จึงร่วมจัดทำโครงการศึกษาการให้ความรู้แก่ผู้ขอใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ในพื้นที่นำร่อง เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ขอใบอนุญาตจำหน่ายสุรา  อันจะนำไปสู่การไม่กระทำผิดกฎหมาย โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควร และอาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ต่อไป
 
ทั้งนี้ ข้อมูลช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 - 2559 พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวนถึง 137,385 คน พบการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ในวันที่ 13  เมษายน โดยพบว่าผู้ประสบอุบัติเหตุที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเป็นกลุ่มเยาวชนอายุตั้งแต่ 15 – 19 ปี
**********************************  11 เมษายน 2561
 


   
   


View 35    11/04/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ