กระทรวงสาธารณสุข ทำแผนปฏิบัติการเขตสุขภาพพิเศษ 4 ด้าน เพิ่มการมีหลักประกันสุขภาพต่างด้าว จัดระบบการให้บริการสุขภาพคนชายแดน พัฒนาสาธารณสุขชายทะเลเป็นเลิศและมาตรฐานสากล และเพิ่มขีดความสามารถบริการ และงานอาชีวเวชศาสตร์และอนามัยสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ EEC ให้ประชาชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

          นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ ให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ด้วยข้อจำกัดบางพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถให้บริการเหมือนหลักการทั่วไป ทำให้ต้องมีมาตรการและแนวทางเฉพาะในการทำงาน เช่น บริเวณชายแดนพื้นที่ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ต้องให้บริการคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ที่อาศัยอยู่หรือเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถเบิกค่ารักษาจากระบบหลักประกันสุขภาพได้ และไม่มีบัตรประกันสุขภาพใดๆ ซึ่งทำให้ต้องมีแนวทางต่อไป ในเรื่องของแรงงานต่างด้าว และผู้ติดตามแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงาน ไม่ได้มีหลักประกันสุขภาพ กรณีพื้นที่ชายทะเล หรือเกาะ มีนักท่องเที่ยววันละหลายหมื่นคน  โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับได้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เกิดผลกระทบ กติกาจ่ายค่ารักษาเป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป ใช้กับกรณีนี้ไม่ได้ เช่นอาจจำเป็นต้องมีเรือเร็ว เฮลิคอปเตอร์ ส่งต่อผู้ป่วย จึงต้องวางแผนการบริการสุภาพแบบพิเศษ

          นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอหลักการเรื่องนี้เข้าที่ประชุมและเป็นหนึ่งเรื่องที่คณะรัฐมนตรีน้อย เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าดำเนินการ จัดทำแผนเขตสุขภาพพิเศษเป็น 4 ด้าน 1.ด้านแรงงานต่างด้าว ครอบคลุมแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก สมุทรสาคร ระนอง ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร ระยอง และสมุทรปราการ พัฒนาข้อเสนอรูปแบบหลักประกันสุขภาพประชากรต่างด้าวระบบเดียว พัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว ทำฐานข้อมูลสุขภาพต่างด้าว 2.ด้านสาธารณสุขชายแดน 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก ระนอง น่าน สระแก้ว พัฒนาความร่วมมือสาธารณสุขกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดระบบให้บริการสุขภาพคนชายแดน ลดภาระการเงินของโรงพยาบาล มีบัตรสุขภาพสำหรับคนข้ามแดน หลักประกันคนไร้รัฐ และการตั้งกองทุนรักษาพยาบาลและควบคุมโรค จัดให้มีล่ามและการสื่อภาษาในรพ.ตามพื้นที่ชายแดน 3.ด้านพัฒนาสุขภาพระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพิ่มศักยภาพอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ

          และ4.ด้านสาธารณสุขทางทะเล 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี บูรณาการเครือข่ายการดูแลช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวในภาวะฉุกเฉิน ด้านการสาธารณสุขทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาการสาธารณสุขทางทะเลของประเทศให้เป็นเลิศและมีมาตรฐานสากล พัฒนาบางพื้นที่ให้สามารถเก็บค่ารักษาพยาบาลกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

          ทั้งหมดนี้ ได้จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ พ.ศ.2560-2564 อนึ่งรายชื่อคณะกรรมการฯ นำเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี และเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ และจะนัดประชุมนัดแรกเพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการต่อไป

************ 21 เมษายน 2561

 

 

 



   
   


View 31    21/04/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ