“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เร่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการจริยธรรมการวิจัยในคน ให้ได้คุณภาพ มาตรฐานสากล คุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของอาสาสมัครร่วมวิจัย รองรับการพัฒนานวัตกรรมกลุ่มสุขภาพตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
พญ.มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้จัดการระบบงานจริยธรรมการวิจัยระดับจังหวัด ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรุ่นที่ 1 ประกอบด้วย คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ (EC) ระดับจังหวัด ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการและให้การสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ (EC) เขตสุขภาพที่ 1-6 จำนวน 130 คน จัดโดยสำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พญ.มยุรากล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ (EC) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกป้องอาสาสมัครที่เข้าร่วมในการศึกษาวิจัยให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ มีความปลอดภัย และได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมจากการเข้าร่วมการวิจัยตามหลักมาตรฐานสากล เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการของคณะกรรมการ EC ในการพิจารณาจริยธรรมของโครงร่างการวิจัย โดยเฉพาะการวิจัยทางคลินิก (clinical research) ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในการทดลองยาใหม่ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ ที่มีการศึกษาวิจัยในหลายพื้นที่ ให้ได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ มาตรฐานทางด้านจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ที่เหมาะสม รองรับการพัฒนานวัตกรรมกลุ่มสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยปัจจุบันมีคณะกรรมการ EC ทั้งระดับกระทรวง ระดับกรม ระดับหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการ และระดับจังหวัด รวม 187 คณะ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ยังได้รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากหน่วยงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับชาติและระดับสากล เช่น สถาบันบำราศนราดูร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติบรมราชชนนี คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการของคณะกรรมการ EC ระดับจังหวัดและเขตสุขภาพให้มีประสิทธิภาพต่อไป