กระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รณรงค์ให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน ป้องกันโรคไข้เลือดออกช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูร้อนสู่ฤดูฝน ย้ำโรงพยาบาลให้ความสำคัญผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง คำนึงถึงโรคไข้เลือดออก หากป่วยมีไข้สูงลอย 2 วันกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ให้ไปพบแพทย์

นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนสู่ฤดูฝน มีฝนตกชุกบางพื้นที่ จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้น ข้อมูลกรมควบคุมโรคในปีนี้ ตั้งแต่มกราคม – 21 เมษายน 2561 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก 7,536 ราย เสียชีวิต 12 ราย อัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ รองลงมาคือภาคกลาง แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจะน้อยกว่า ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากกรมควบคุมโรคคาดว่าในปีนี้จะมีผู้ป่วยสูงกว่าปี 2560 จำเป็นต้องเร่งดำเนินการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนที่กำลังจะเปิดเทอม รวมทั้งจุดที่มักมองข้ามภายในบ้าน คือ แก้วน้ำ แจกันหน้าหิ้งพระ และศาลพระภูมิ ขอให้ล้างและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน ซึ่งเป็นวิธีป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุด ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน ทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย  รวมทั้งขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งให้ความสำคัญกับการตรวจ วินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ให้คำนึงถึงโรคไข้เลือดออกด้วย และดูแลทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ไม่ให้มียุงลายไปกัดผู้ป่วย

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อไปว่า หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5 - 8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย อุณหภูมิ 38.5 – 40.0 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 - 7 วัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็ก ๆ ตามแขน ขา ลําตัว หากมีอาการไข้สูง 2 วันกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ขอให้รีบไปพบแพทย์ ในการดูแลในช่วงที่ป่วย ให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่บ่อย ๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้ รับประทานอาหารอ่อนๆ งดอาหารที่มีสีคล้ายเลือด และกินยาตามแพทย์สั่ง ห้ามกินยาแอสไพรินหรือไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ที่สำคัญคือในช่วงไข้ลด ประมาณวันที่ 3-4 จะต้องเฝ้าระมัดระวังอาการอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดภาวะช็อคได้  สัญญาณอันตราย คือ ผู้ป่วยจะซึม อ่อนเพลียมาก กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น   ชีพจรเต้นเบา เร็ว ปวดท้องกะทันหัน กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง เลือดกําเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดํา ขอให้รีบนําส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ให้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดการเสียชีวิต

พฤษภาคม/1  ************************************  1 พฤษภาคม 2561



   
   


View 30    01/05/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ