ปลัดกระทรวงสาธารณสุข วอนสังคมเห็นใจแพทย์ไทย ภาระงานหนัก มุ่งรักษาผู้ป่วยให้หาย ท่ามกลางความขาดแคลน ปีหนึ่งๆ มีผู้ป่วยต้องทำผ่าตัดใหญ่มากกว่า 6 แสนครั้ง ขณะที่มีหมอดมยาทั่วประเทศเพียง 107 คน ยันจะรอการตัดสินจากศาลอุทธรณ์อีกครั้ง ชี้หากแพทย์โรงพยาบาลชุมชน 800 แห่ง ปฏิเสธการทำผ่าตัด จะก่อปัญหาระบบบริการ
ตามที่ศาลจังหวัดทุ่งสง มีคำพิพากษาให้จำคุก แพทย์หญิงสุทธิพร ไกรมาก แพทย์ประจำโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 3 ปี ในข้อหากระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต โดยระบุว่าแพทย์หญิงสุทธิพร อาจใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอ ฉีดยาชาเข้าไขสันหลังของผู้ป่วย โดยมิได้ควบคุมปริมาณของยาให้เหมาะสม เป็นเหตุให้ยาชาออกฤทธิ์ลุกลามไปทั้งตัว จนเกิดอาการช็อค หัวใจหยุดเต้นทันที ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ขาดอากาศหายใจ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อยากขอร้องให้สังคมไทยเห็นใจและให้กำลังใจแพทย์ที่เสียสละปฏิบัติงานในต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทห่างไกลทุรกันดาร ที่ต้องทำงานอยู่ในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ผู้ถูกฟ้องร้องรายนี้ หรือแพทย์คนอื่นๆ ในโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ ต่างก็ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข ให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลประชาชน และทุกคนต่างตั้งใจปฏิบัติงานเพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายหายจากเจ็บป่วย ไม่มีใครต้องการให้ผู้ป่วยเสียชีวิต โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งตามกฎของแพทยสภา แพทย์ทุกคนสามารถดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทุกประเภท แม้ว่าจะไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะผู้ป่วยมีจำนวนมาก
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ต้องผ่าตัดผู้ป่วยปีละเกือบ 6 แสนครั้ง แต่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดมยาอยู่ในโรงพยาบาลน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัด โดยมีแพทย์ดมยาทั้งหมด 107 คน อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 106 คน และอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนเพียง 1 คน ขณะที่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่สามารถส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใหญ่ได้ ต้องให้การรักษาหรือผ่าตัดอย่างเร่งด่วนทันทีเพื่อช่วยชีวิต ในการผ่าตัดจึงต้องใช้แพทย์ทั่วไปซึ่งมีความรู้พื้นฐานด้านการดมยามาแล้ว จากการศึกษาแพทย์ และพยาบาลดมยาช่วยทำการผ่าตัด ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่ามีความปลอดภัยดี
คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เพราะมีการอุทธรณ์เพื่อให้ศาลสูงพิจารณาวินิจฉัย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะได้ศึกษารายละเอียดคำพิพากษาของศาลจังหวัด และรอการตัดสินจากศาลอุทธรณ์อีกครั้ง เพื่อนำมาสร้างเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานของแพทย์ในชนบทต่อไป เพราะถ้าแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนปฏิเสธการผ่าตัด เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยอีกจำนวนมากก็จะประสบอันตราย เพราะระบบสาธารณสุขของไทย ยังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ โดยเฉพาะแพทย์ดมยา แพทย์ผ่าตัด อยู่อีกมาก
*************************** 7 ธันวาคม 2550
View 5
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ