กระทรวงสาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก วันที่ 26 มิถุนายน 2561 จำนวน 6,322 กิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 13,697 ล้านบาท ครั้งนี้ยังมีกัญชาและกระท่อมของกลางจาก สน.คลองตัน สน.สำราญราษฎร์ และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาร่วมเผาอีกจำนวนกว่า 8,400 กิโลกรัม
วันนี้ (25 มิถุนายน 2561) ณ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 48 ประจำปี 2561 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี โดยมีนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทูตานุทูต ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองทัพบก นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน
ยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายประกอบด้วย ยาเสพติดให้โทษของกลางที่คลังยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจำนวน 6,322 กิโลกรัม จาก 7,245 คดี มูลค่ากว่า 13,697 ล้านบาท มีเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าน้ำหนักกว่า 5,514 กิโลกรัม (ประมาณ 61 ล้านเม็ด) มูลค่าประมาณ 12,254 ล้านบาท ยาไอซ์น้ำหนักกว่า 486 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1,216 ล้านบาท เฮโรอีนน้ำหนักกว่า 108 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 174 ล้านบาท MDMA/MDA (ยาอี/ยาเลิฟ) น้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 34 ล้านบาท โคคาอีนน้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท ฝิ่นน้ำหนักกว่า 122 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1.3 ล้านบาท รวมทั้งกัญชาและพืชกระท่อมจากสถานีตำรวจนครบาลคลองตัน สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จำนวนกว่า 8,400 กิโลกรัม ของกลางทั้งหมดเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอะเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ที่อุณหภูมิสูงไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม
สถิติการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางตั้งแต่ปี 2520-2561 รวม 48 ครั้ง มีน้ำหนักรวมกว่า 128,776 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 197,343 ล้านบาท มากที่สุดได้แก่ เมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีน 74,708 กิโลกรัม รองลงมาฝิ่นและอื่น ๆ 28,760 กิโลกรัม เฮโรอีนกว่า 25,127 กิโลกรัม และเอ็คซ์ตาซี่จำนวนกว่า 179 กิโลกรัม
นายแพทย์ธวัช กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการระบบการบำบัดรักษาเพื่อให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดได้รับการดูแลอย่างครบวงจร ตามนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติด ประสานและร่วมติดตามช่วยเหลือดูแลผู้ผ่านการบำบัด ในปีงบประมาณ 2561 ตั้งเป้านำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัด 208,350 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ 123,850 คน บังคับบำบัด 61,500 คน ต้องโทษ 23,000 คน ผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 - 28 กุมภาพันธ์ 2561 นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ แล้ว 68,878 คน คิดเป็นร้อยละ 56.19 ระบบสมัครใจ 38,707 คน ระบบบังคับบำบัด 26,009 คน และระบบต้องโทษ 4,162 คน โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง พร้อมระบบบำบัดรักษาที่ได้มาตรฐานสากล ประชาชนปรึกษาได้ที่สายด่วนปรึกษาปัญหายาเสพติด 1655
*********************************** 25 มิถุนายน 2561