กระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จิตอาสาและประชาชนทั่วไป  และบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางแล้วกว่า 2,500 คน      เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2561

         นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) สำหรับบุคลากรสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง ปี 2561 รุ่นที่ 20 และมอบประกาศนียบัตรให้แก่ตัวแทนผู้ผ่านการฝึกอบรมฯ จำนวน 50 คน

       นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จิตอาสา และประชาชนทั่วไป ที่จังหวัดนนทบุรี สงขลา ปัตตานี รวมกว่า 1,500 คน และในกลุ่มบุคลากรสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง จำนวน 20 รุ่น รวม 1,000 คน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ( AED) สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัย  หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันได้อย่างถูกวิธี รวดเร็ว ทันท่วงที  เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตแก่ผู้ที่มีจากภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา

           “แต่ละปี คนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน   หรือเฉลี่ย 1 ชั่วโมงละ 6 คน แต่หากได้รับการช่วยเหลือด้วยการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) อย่างถูกต้อง และใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น  จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันได้ อย่างเช่นกรณีน้องน้ำว้า นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเพชรพิทยาคม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ที่นำความรู้เรื่องการ CPR ที่ได้รับจากการเข้าค่ายอบรมค่ายหนึ่ง สามารถช่วยชีวิตคนตกต้นไม้และหัวใจหยุดเต้นรอดชีวิต จนได้รับความชื่นชมอย่างมากบนโลกโซเชียล ดังนั้นผู้ผ่านการอบรมทุกคนถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที ” นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า

          ทั้งนี้ ในการปฐมพยาบาลช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานผู้ประสบเหตุในเบื้องต้น ให้กดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการผายปอด 2 ครั้ง และควรมีผู้ช่วยเหลืออย่างน้อย 2 คนผลัดเปลี่ยนกันกดหน้าอกทุก ๆ 2 นาที หรือกดหน้าอกสลับการช่วยหายใจครบ 5 รอบ (3 : 2) และทำต่อเนื่องไป จนกระทั่งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจมาถึง และพร้อมใช้งาน หรือมีบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาดูแลผู้ป่วยต่อไป 

 

*********************************   26 มิถุนายน 2561

 



   
   


View 576    26/06/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ