กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พร้อมมอบโล่และเกียรติบัตรแหล่งเรียนรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับภาคและจังหวัด

          วันนี้ (4 กรกฎาคม 2561) ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กทม. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ ปี 2561 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่น  ศูนย์อนามัย องค์กรไม่แสวงผลกำไร กระทรวงและกรมที่เกี่ยวข้อง จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมทั้งมอบโล่รางวัลแหล่งเรียนรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับภาค และเกียรติบัตรระดับจังหวัดแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปี 2561 จำนวน 50 แห่ง

 

           ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นวาระแห่งชาติ ได้ให้กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการทำงานร่วมกับ 4 กระทรวง คือ ศึกษาธิการ แรงงาน การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมหาดไทย ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดอัตราคลอดในวัยรุ่น อายุ 10-14 ปี และอายุ 15-19 ปี เป็น 1 ในตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดี ทุกเพศ ทุกวัย ภายในปี 2573 ซึ่งในปี 2559 พบวัยรุ่นไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีมีจำนวนการคลอดบุตรประมาณ 94,000 คน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์ รู้ปัญหา สามารถประสานให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ จึงเป็นองค์กรที่มีศักยภาพสูงที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ และยังเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มาตราที่ 10

             ด้านนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ภายใต้ 6 กระบวนการ ได้แก่ 1) สำรวจ รวบรวมข้อมูลสถานการณ์วัยรุ่นอย่างรอบด้าน 2) คืนข้อมูลให้กับผู้บริหารและชุมชน 3) สร้างและรักษาภาคีเครือข่าย 4) จัดทำแผนโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของร่วมกัน 5) ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านกลไกการทำงานทุกระดับ 6) กำกับ ติดตาม ประเมินผล นำสู่การพัฒนาต่อยอด ขณะนี้ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายทั้งสิ้น 1,480 แห่ง และได้จัดทำแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 4 ภาค เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รู้จักและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน สรรหาและคัดเลือกแหล่งเรียนรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 

        ทั้งนี้ อปท.ที่ได้รับโล่รางวัลแหล่งเรียนรู้ฯ ระดับภาค  ได้แก่ อบต.แม่วงค์ จ.นครสวรรค์ อบต.อ่าวน้อย     จ.ประจวบคีรีขันธ์ อบต.อากาศอำนวย จ.สกลนคร และอบต.นาไม้ไผ่ จ.นครศรีธรรมราช ส่วนระดับจังหวัด อาทิ  อบต.ม่วงคำ จ.เชียงราย  อบต.บางคูรัด จ.นนทุบรี  เทศบาลเมืองบ้านฉาง จ.ระยอง  เทศบาลตำบลบ้านโปร่ง      จ.อุดรธานี เทศบาลตำบลขุนทะเล จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น   

********  4 กรกฎาคม 2561



   
   


View 571    04/07/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ