“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เตรียมประกาศใช้อนุบัญญัติ 5 ฉบับ ตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560
วันนี้ (4 กรกฎาคม 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 1/2561 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างอนุบัญญัติภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 รวม 5 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ลักษณะและวิธีการในการแสดงเครื่องหมาย เขตปลอดบุหรี่ และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ 3.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงชื่อ ราคา และการแสดงการเป็นสถานที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ 4.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงคำหรือข้อความ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือจูงใจให้บริโภคในฉลากของบุหรี่ ซิกาแรต ซิการ์ ยาเส้น หรือ ยาเส้นปรุง และ 5.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดเพิ่มเติมสถานที่ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งเป็นการกำหนดให้เรือนจำและทัณฑสถาน เป็นสถานที่ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คผยช. กล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 5 ฉบับ เป็นอนุบัญญัติที่กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาระสำคัญเพื่อเป็นการกำหนดสถานที่ และยานพาหนะสาธารณะให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ และกำหนดรูปแบบเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ให้ง่าย สะดวกต่อการปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งมีการกำหนดรูปแบบของป้ายแสดงชื่อและราคาขายผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทต่าง ๆ ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อป้องกันการใช้ป้ายเป็นสื่อโฆษณากระตุ้นให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบมากขึ้น นอกจากนี้ ได้มีการขยายความคุ้มครองเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากพิษภัยผลิตภัณฑ์ยาสูบของผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ต้องขังเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้ง่าย เนื่องจากมีการอนุญาตให้ขายบุหรี่ ยาเส้นภายในพื้นที่เรือนจำ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้เรือนจำ และทัณฑสถานทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นสถานที่ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท
*********************** 4 กรกฎาคม 2561