องค์การอนามัยโลก ร่วมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประชุมนักวิชาการด้านเภสัชกรรมและองค์กรเอกชนใน 11 ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วางยุทธศาสตร์ลดปัญหาการใช้ยาสิ้นเปลือง ด้านกระทรวงสาธารณสุขไทยเผยปี 2548 ไทยเสียเงินรักษาสุขภาพกว่า 4 แสนล้านบาท นำประเทศเพื่อนบ้าน เกือบครึ่งเป็นค่ายา เตรียมประกาศใช้บัญชียาแห่งชาติฉบับใหม่คาดใช้ต้นปี 2551 คัดเลือกรายการยาที่จำเป็นจริงๆ คาดจะลดความฟุ่มเฟือยลงได้ปีละกว่า 20,000 ล้านบาท วันนี้ (12 ธันวาคม 2550) ที่โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมระดับภูมิภาคเรื่องบทบาทของการศึกษาในการส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสม (Regional Meeting on the Role Education in Rational Use of Medicines) จัดโดยองค์การอนามัยโลก ร่วมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 12 – 14 ธันวาคม 2550 โดยมีนักวิชาการด้านเภสัชกรรม และองค์กรเอกชน จาก 11 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย อินโดนีเชีย มัลดีฟ พม่า เนปาล ศรีลังกา ติมอร์ตะวันออก เกาหลี และไทย ร่วมประชุมประมาณ 120 คน โดยมีนายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรศักดิ์ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมประชุมด้วย การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อระดมความคิดเห็นจัดทำแผนยุทธศาสตร์เผยแพร่ความรู้การบริโภคยาที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสมของประชาชนในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผ่านช่องทางระบบการศึกษา ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ให้ประชาชนมีความรู้ในการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่ในโรงเรียน นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยใช้เทคโนโลยีอย่างพอประมาณ และถูกต้อง เหมาะสมตามหลักวิชาการ เพื่อให้ผู้รับบริการมีความอุ่นใจ ผู้รับบริการมีความสุข เกิดระบบสุขภาพพอเพียงภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ไทยมีรายจ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 25,315 ล้านบาทในพ.ศ. 2538 เป็น 434,974 ล้านบาทในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้น 17 เท่าตัว คิดเป็นร้อยละ 6 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเชีย รายจ่ายสุขภาพส่วนใหญ่ร้อยละ 43 เป็นด้านยา มูลค่าถึง 186,331 ล้านบาท นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้น เนื่องจากคนไทยยังมีการบริโภคยาที่ไม่เหมาะสม ที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือยาปฏิชีวนะที่ใช้มากเกินความจำเป็น ใช้ไม่ครบขนาดที่แพทย์สั่ง ซึ่งทำให้เชื้อโรคเกิดการดื้อยาตามมา หรือการซื้อยารับประทานเองจากร้านขายยาโดยไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ ค่านิยมการใช้ยาฉีดแทนยากิน เพราะเห็นว่าฤทธิ์แรงให้ผลทันใจกว่า ซึ่งเป็นการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือย สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสร้างเสริมระบบการใช้ยาอย่างเหมาะสมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยริเริ่มโครงการร้านขายยาคุณภาพ ให้เภสัชกรจ่ายยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือสามารถวินิจฉัยโรคพื้นฐานที่ถูกต้อง เลือกสรรยาที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับโรคและผู้รับบริการ มีการให้คำแนะนำ และติดตามผลการใช้ยา รวมทั้งได้ปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติฉบับปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นบัญชียาแห่งชาติที่มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมโรคและการรักษาที่จำเป็น อย่างคุ้มค่า สามารถใช้ร่วมกันได้ในทุกระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล โดยตั้งคณะกรรมการซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญ 16 สาขาพิจารณาคัดเลือกยารักษาโรคที่เป็นปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ ลงในบัญชียาแห่งชาติ มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ และจะประกาศใช้ได้ในต้นปี 2551 แน่นอน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่เกินความจำเป็นของรัฐได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 23,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพ กระตุ้นให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย การกินอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม การผ่อนคลายความเครียด การดูแลสภาพแวดล้อม และการลดละเลิกเหล้า บุหรี่ เพื่อป้องกัน 5 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ที่ทำลายสุขภาพคนไทย และทำให้ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก ********************************** 12 ธันวาคม 2550


   
   


View 7    12/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ