กระทรวงสาธารณสุข กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน จัดหน่วยแพทย์ดูแลสุขภาพกายและจิตใจ ดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ผู้ประสบภัยดินถล่มที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ประจำศูนย์พักพิงตลอด 24 ชั่วโมง

          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ประสบภัยพิบัติดินถล่มที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ว่า ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยเรื่องสุขภาพของผู้ประสบภัยเป็นอย่างมาก ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่านจัดหน่วยแพทย์ดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

         นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจากนายแพทย์ดิเรก สุดแดน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่านว่า เช้าวันนี้ (31 สิงหาคม 2561) ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยมีการเปลี่ยนศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย 261 คนจากโรงเรียนบ้านสว้า ไปยังวัดสว้าและมูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนายั่งยืน เนื่องจากโรงเรียนเปิดการเรียนการสอน  ได้จัดหน่วยแพทย์ให้บริการตรวจรักษา  และทีม MCATT ดูแลด้านจิตใจ  จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว โรงพยาบาลน่าน และโรงพยาบาลบ่อเกลือ  พร้อมจัดรถพยาบาล ประจำศูนย์พักพิงตลอด 24 ชั่วโมง พบบางส่วนมีอาการเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ กลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ให้การดูแลรักษา และติดตามดูแลประเมินซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ ได้ส่งทีมดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดการขยะ น้ำสะอาด ส้วม ป้องกันโรคจากสัตว์นำโรคต่าง ๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้ฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 ได้สนับสนุนมุ้งชุบสารเคมี 100 หลัง และยาทากันยุง 1,000 ซอง

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมรับมือน้ำท่วมในพื้นที่ฝนตกหนักตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดเสี่ยงสูง 11 จังหวัด คือ จังหวัดมุกดาหาร สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อํานาจเจริญ ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน เชียงราย เพชรบูรณ์ และตรัง ขอให้สถานบริการทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินการตามแผนป้องกันสถานบริการ การจัดบริการประชาชนที่ได้จัดเตรียมไว้ ย้ายอุปกรณ์การแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ไว้ที่สูง เตรียมเครื่องสำรองไฟฟ้า ออกซิเจนผู้ป่วย และขอให้ทีมหมอครอบครัว สำรวจและรวบรวมข้อมูลกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด หลังคลอด เด็กเล็ก เพื่อติดตามเยี่ยมบ้านและให้ยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำให้เพียงพอ หากสถานบริการต้องการการสนับสนุนให้ประสานมายังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง

 ***************************** 31 กรกฎาคม 2561

 



   
   


View 685    31/07/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ