กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน เชิญชวนประชาชนร่วมงานมหกรรมสมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3 “กินเปลี่ยนวัย…กินอย่างมั่นใจ ด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน” ที่อิมแพค เมืองทองธานี วันที่ 29 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2561 

          บ่ายวันนี้ (14 สิงหาคม 2561) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นายสุธี  มากบุญ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แถลงข่าวงานมหกรรมสมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3  กินเปลี่ยนวัย…กินอย่างมั่นใจ ด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน  จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคีเครือข่ายด้านเกษตรกรรมยั่งยืน คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2561 ณ ฮอลล์ 7 – 8 อิมแพค เมืองทองธานี

 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับประทานอาหาร และยาสมุนไพรที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอาหารมีสารเคมีตกค้าง กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบอาหารที่จะนำมาประกอบอาหารให้ผู้ป่วย และวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นยาสมุนไพรที่ปลอดภัย โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เป็น “โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย” ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ จัดหาวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีให้กับผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลจะรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกร และจัดตลาดจำหน่ายสินค้าปลอดสารเคมี เพื่อให้บุคลากรและประชาชนเข้าถึงอาหาร ผัก ผลไม้ สมุนไพรที่ปลอดภัย สนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยให้มีตลาดใกล้บ้าน ขณะนี้ ดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปครบทั้ง 116 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนมากกว่าร้อยละ 50 ในระยะต่อไป จะพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบเขตสุขภาพละ 1 แห่ง เพิ่มสัดส่วนของผักผลไม้อินทรีย์ให้มากกว่าร้อยละ 30 อีกร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์ผักผลไม้ปลอดภัย และเพิ่มชนิดของวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารปลอดภัย เช่นเนื้อสัตว์ น้ำมัน เครื่องปรุงทุกชนิด 

สำหรับพืชสมุนไพร ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมการปลูกและแปรรูปสมุนไพรที่ได้มาตรฐานสากล GAP และเกษตรอินทรีย์ (Organic) ไว้ในยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร โดยร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรฯ เพิ่มพื้นที่ปลูกสมุนไพร 4 ชนิด คือ กระชายดำ ไพล บัวบก และขมิ้นชัน ตามมาตรฐาน GAP/Organic จำนวน 3,780 ไร่ ให้โรงพยาบาลในสังกัดซื้อวัตถุดิบสมุนไพรที่เป็นเกษตรอินทรีย์ มีการทำสัญญาจัดซื้อสมุนไพร (Contract Farming) กับเกษตรกรปลูกสมุนไพร Organic ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพรเฉลี่ย ครัวเรือนละ 80,000 บาทต่อปี

ด้านนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า  กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแกนหลักในการประสานการขับเคลื่อนงานเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน และทุกสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิต ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้บริโภค เกิดความตระหนักในการผลิตและบริโภค ที่ทำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน   ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ คำนึงถึงภูมิสังคมท้องถิ่น ทุกภาคส่วนบูรณาการแบบมีส่วนร่วม และดำเนินการลักษณะพื้นที่เป็นองค์กรเดียวกัน ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว

ด้านนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเร่งขับเคลื่อนงานเกษตรกรรมยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายแผนชาติที่กำหนดให้เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 5 ล้านไร่ ในปี 2564  ยึดหลักการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา เป็นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และภาคีอื่น ๆ ร่วมบูรณาการเพื่อเสริมกลไกของรัฐที่มีอยู่ โดยขับเคลื่อนทั้งระดับชุมชน จังหวัด และชาติ หนุนเสริมให้เกิดการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนใน 4 จังหวัดภาคอีสาน ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ไร่ในปี 2561 ได้แก่ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และจะขยายผลไปจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

 

ในระยะต่อไป จะเร่งรัดดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.การออก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน2.การจัดทำ Road Map ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศ และ 3.การจัดทำฐานข้อมูลกลางเกษตรกรรมยั่งยืน คาดว่า จะมีการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเกิดขึ้นมากกว่า 5 ล้านไร่ เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในปี 2564

          ทั้งนี้ งานมหกรรมสมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3 จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้สมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง สามารถนำพืชผัก สมุนไพรใกล้ตัว มาใช้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยาได้ กิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการ สวนสมุนไพรชะลอวัยดูแลสุขภาพร่างกาย  กิจกรรม Workshop สมุนไพรและการดูแลสุขภาพ การอบรมระยะสั้นมากกว่า 50 หลักสูตร แจกพันธุ์สมุนไพรหายากวันละ 300 ต้นและหนังสือสมุนไพรวันละ 200 เล่ม บริการตรวจ ให้คำปรึกษาสุขภาพกับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน หมอพื้นบ้าน การจำหน่ายสินค้าสมุนไพรคุณภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารสุขภาพ และอาหารพื้นถิ่น

*****************************  14 สิงหาคม 2561



   
   


View 820    14/08/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ