กรมการแพทย์ - กรมควบคุมโรค ลงนามข้อตกลงบูรณาการการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนการทำงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทั้งด้านวิชาการ การจัดบริการ กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินภัยสุขภาพ และให้การดูแลประชาชนเมื่อเกิดเหตุการณ์

           วันนี้ (21 สิงหาคม 2561) ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระหว่างนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งการศึกษาวิจัย การฝึกอบรม การจัดบริการ ให้การดูแลประชาชนกรณีเกิดเหตุการณ์ด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม พัฒนามาตรฐานบริการ และการผลักดันนโยบาย และกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม

          นายแพทย์เจษฎาให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีกรมการแพทย์ จัดบริการด้านการรักษาพยาบาล และพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และมีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ดูแลงานด้านอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมให้มีมาตรฐานสากล โดยประสานความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศในการผลิตและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ องค์ความรู้ กฎหมาย การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ส่งเสริมสนับสนุนถ่ายทอดความรู้ให้เครือข่ายและประชาชน ผลักดันและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่จำเป็น เตรียมความพร้อมในการจัดการภาวะคุกคามและภัยสุขภาพใหม่ๆ  พัฒนาและศักยภาพระบบ กลไกของเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าทั้ง 2 กรม มีประเด็นการดำเนินงานใกล้เคียงกัน และกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน จึงควรบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนในการทำงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม

          สำหรับความร่วมมือด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงครั้งนี้ มีระยะเวลา 5 ปี ประกอบด้วย 1.การจัดทำแผนที่วิจัยและการวิจัย 2.พัฒนารูปแบบการจัดบริการ โดยเฉพาะการบริหารจัดการโครงการคลินิกโรคจากการทำงาน การจัดทำมาตรฐานการประเมินและรับรองคุณภาพบริการ การจัดทําเกณฑ์การเฝ้าระวังและวินิจฉัยโรค และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ ด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการผลักดันให้มีการดําเนินงานตามความร่วมมือกับต่างประเทศที่แต่ละกรมจัดทําร่วมกัน 3.การจัดทําแผนกําลังคน หลักสูตรและการฝึกอบรมบุคลากร  4.การรวมในการผลักดันนโยบาย การจัดทําร่างพระราชบัญญัติ กฎกระทรวงหรือแนวทางตามพระราชบัญญัติโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม

          ทั้งนี้ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2560 พบผู้ป่วยโรคจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่รวมเหตุจากการทำร้ายตนเอง คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 17.12 ต่อประชากรแสนคน ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่พบอัตราป่วย 14.47 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ สตูล แพร่และอุตรดิตถ์ พบผู้ป่วยซิลิโคสิส หรือโรคปอดจากฝุ่นหิน 195 คน จาก 28 จังหวัดทั่วประเทศ คิดเป็นอัตราป่วย 0.32 ต่อประชากรแสนคน ลดลงจากปี 2559 ที่พบ 236 คน อัตราป่วย 0.39 ต่อประชากรแสนคน สูงสุดในจังหวัดนครราชสีมา อุตรดิตถ์และมหาสารคาม

          ส่วนการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่นขยะอิเล็กทรอนิกส์/ขยะอันตรายในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา และราชบุรี  ได้คัดกรองสุขภาพฯ แรงงานในจังหวัดกาฬสินธุ์ พบมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการยกของหนักมากที่สุดร้อยละ 71.1 รองลงมาคือมีอาการผื่นคันผิวหนัง/คัดจมูกจากสัมผัสฝุ่น ร้อยละ 47.9 ผลการตรวจปัสสาวะหาสารแคดเมียมในร่างกายกลุ่มผู้มีอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ 173 ราย พบอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกราย และหมอกควันในภาคเหนือ พบอัตราป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คิดเป็น 14,370.75 ต่อประชากรแสนคน สูงสุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน และพะเยาตามลำดับ ผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมกราคม สำหรับในภาคใต้ตอนล่าง ได้ติดตามข้อมูลระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กรายวัน ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-17 สิงหาคม 2561) พบว่าจังหวัดส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพอากาศในพื้นที่ระดับดีมาก

************************************  21 สิงหาคม 2561

 



   
   


View 756    21/08/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ