“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก สมัยที่ 71 ณ สาธารณรัฐอินเดีย ผลักดันนโยบาย กำหนดแนวทางและกลไกการดำเนินงานของประเทศสมาชิกในภูมิภาค ให้สอดคล้องกับมติสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 71
วันนี้ (3 กันยายน 2561) นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก สมัยที่ 71 (Seventy - First Session of the WHO Regional Committee for South-East Asia : RC71) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 3 – 7 กันยายน 2561 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก 11 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ เมียนมา เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์เลสเต เพื่อผลักดันนโยบายความร่วมมือสาธารณสุข การบริหารจัดการด้านงบประมาณและแผนงานของประเทศสมาชิกในภูมิภาค รวมทั้งกำหนดแนวทางและกลไกการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับข้อมติสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 71 ที่ผ่านมา
นายแพทย์ธวัชกล่าวต่อว่า รัฐมนตรีจากประเทศสมาชิก และผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ได้ร่วมกันเปิดตัวหนังสือ A Healthier South-East Asia: 70 years of WHO in the Region ที่รวบรวมผลการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ในการพัฒนาสาธารณสุขของภูมิภาค 70 ปีที่ผ่านมา ในช่วงพิธีเปิดการประชุมฯ และได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย กล่าวถ้อยแถลงแสดงความชื่นชมผลการดำเนินงานกำจัดโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาค ของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกในปีที่ผ่านมา อาทิ โรคเท้าช้าง (Lymphatic Filariasis) ในประเทศมัลดีฟส์ ศรีลังกา และไทย การกำจัดโรคหัดในประเทศมัลดีฟส์ และภูฏาน อย่างไรตาม ประเทศต่าง ๆ ยังมีความท้าทายหลายประการ เช่น โรควัณโรค และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประเทศสมาชิกรวมทั้งประเทศไทย จำเป็นจะต้องสร้างความมุ่งมั่นทางการเมือง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ เพื่อให้มีศักยภาพในการยุติโรควัณโรค และการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ได้ผลอย่างยั่งยืน
******************************************* 3 กันยายน 2561