นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) หัวข้อการพัฒนาการเข้าถึงยาจำเป็น ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (Improving Access to Essential Medicines in the Region and Beyond) ซึ่งเป็นวาระสำคัญของการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก สมัยที่ 71 (Seventy - First Session of the WHO Regional Committee for South-East Asia : RC71) โดยได้กล่าวถึงประเด็นการจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และนำรายการยาที่ระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติมาใช้เป็นสิทธิประโยชน์ด้านยาของระบบประกันสุขภาพของภาครัฐ ทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบประกันสังคม มีการนำนโยบายและมาตรการหลายประการมาใช้เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาที่จำเป็นโดยไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา และสร้างความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณของประเทศด้วย

          นายแพทย์ธวัชกล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ให้ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การนำเสนอประสบการณ์ของภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกให้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลกว่าภูมิภาคเราสามารถร่วมกันพัฒนาการเข้าถึงยาที่จำเป็น ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตยาที่มีคุณภาพ และการจัดการให้มีการแข่งขันทางยาด้วยชื่อยาสามัญ 2.การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารด้านยาของภูมิภาคให้มีความโปร่งใส รวมทั้งการจัดทำเครือข่ายของภูมิภาค 3.การใช้มาตรการผ่อนปรน (TRIPS flexibilities) เช่น การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing) ที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและ4.การสนับสนุนการจัดซื้อยารวมในระดับภูมิภาค เช่น ยากำพร้า หรือยาที่ใช้น้อย ยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู

          ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ผนวกข้อเสนอแนะของไทยในเอกสารปฏิญญาของรัฐมนตรีว่าด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในภูมิภาคและนอกเหนือภูมิภาค (Ministerial Declaration on “Improving access to essential medical products in the Region and beyond) โดยที่ประชุมมีมติให้การรับรองปฏิญญาดังกล่าว

************************************  5 กันยายน 2561



   
   


View 973    05/09/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ