กระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์ไข้เลือดออกพบผู้ป่วยลดลง เดือนสิงหาคมพบผู้ป่วย 10,481 ราย  กำชับเข้มมาตรการกำจัดลูกน้ำยุงลายต่อเนื่อง หากมีไข้ 2 วันอาการไม่ดีขึ้น รีบพบแพทย์

       วันนี้ (18 กันยายน 2561) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และผู้รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมโรคทั่วประเทศ เพื่อติดตามการดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ครั้งที่ 7/2561 ว่า ในปีนี้ หลายภาคส่วนนำทีมจิตอาสา ประชาชน และชุมชน ออกไปสำรวจลูกน้ำยุงลายและลงไปกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ไข้เลือดออกในเดือนสิงหาคม – กันยายนดีขึ้นอย่างชัดเจน จำนวนผู้ป่วยลดลงมาก จากที่คาดการณ์ว่าจะมีการระบาดค่อนข้างมาก โดยเดือนสิงหาคมพบผู้ป่วย 10,481 ราย ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ยังพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ จึงขอเน้นย้ำว่า ผู้ใหญ่ก็เป็นไข้เลือดออกได้ หากป่วย มีไข้ ขอให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล ไม่ควรจะไปซื้อยากินเอง  และไม่กินยาลดไข้ จำพวกแอสไพริน ไอบรูโพรเฟน หรือยากลุ่มเอ็นเสด เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่าย แต่หาก 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง อาจเป็นไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

          “แม้ว่าแนวโน้มการเกิดโรคไข้เลือดออกจะชะลอตัวลง แต่ยังไม่อาจวางใจได้ ทุกจังหวัดจะต้องเข้มข้นมาตรการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง การพ่นหมอกควันเป็นการกำจัดยุงลายตัวแก่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมโรคเท่านั้น ที่สำคัญคือ แต่ละบ้านจะต้องจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเอง  เมื่อแต่ละบ้านไม่มีลูกน้ำยุงลาย ก็จะไม่มีโรคไข้เลือดออก” นายแพทย์โอภาสกล่าว

         สำหรับกรณีข่าวโรคพิษสุนัขบ้าที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ตรวจสอบข้อมูลและยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5 เดือน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เกิดอาการน้ำลายไหล ตัวเกร็ง หลังกินเนื้อสัตว์ที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า 2 ชม.ถึง 20 คนพร้อมกันตามที่เป็นข่าว ขอยืนยันอีกครั้งว่าข่าวที่ออกไปไม่เป็นความจริง และขอย้ำว่าโรคพิษสุนัขบ้าป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นโรคนี้แล้วจะเสียชีวิตร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหากถูกสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว กัด หรือเลียแล้วเรามีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ  มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนต่อไป และขอให้พาสุนัข แมวที่เลี้ยงไว้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี ซึ่งเป็นกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติจะผิด พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งกรณีที่มีสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ควรนำมาบริโภคเด็ดขาด เพราะนอกจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ยังมีโรคที่นำจากสัตว์มาสู่คนอื่น ๆ ที่รุนแรงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โรคแอนแทรกซ์  และหากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อลงไปสอบสวนโรคทันที ประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

********************************  18 กันยายน 2561



   
   


View 610    18/09/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ