“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองระวังบุตรหลานป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง ให้ดื่มสารละลาย โออาร์เอส ห้ามกินยาหยุดถ่าย หรือกินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น หากอาการรุนแรง มีไข้สูง ไม่ดื่มน้ำ ให้รีบพาไปพบแพทย์
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย มีฝนตกหนักสลับอากาศร้อน บางพื้นที่อากาศหนาว พบโรคอุจจาระร่วงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยมีเด็กป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงเข้ารับการรักษาในคลินิกประมาณ 131,000 รายต่อปี และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 56,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากสารพิษของเชื้อโรคหรือเรียกว่าอาหารเป็นพิษ ส่วนที่เหลือเกิดจากไวรัส พยาธิ และแบคทีเรีย โดยโรคอุจจาระร่วงที่พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักเกิดจากเชื้อไวรัส สถานที่ที่พบมากคือสถานสงเคราะห์เด็ก นอกจากนี้ อาจพบการติดเชื้อได้ในผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครอง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัส อาการจะรุนแรงมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระของผู้ป่วย ติดต่อทางการกินอาหาร นม น้ำดื่ม หรือการอมมือที่สัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อ มักจะมีอาการภายใน 2-10 วันหลังรับเชื้อ โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน ต่อมาจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปนฟอง และมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ถ่ายเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า มีไข้สูงและอาเจียนร่วมด้วย ทั้งนี้ ยังพบอีกว่า ก่อนอายุ 5 ปีเด็กทุกคนจะมีการติดเชื้อซ้ำได้หลายครั้ง
“ผู้ป่วยโรคท้องร่วง ร้อยละ 95 ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากจะทําให้เชื้อแบคทีเรียที่มีตามธรรมชาติอยู่ในร่างกายเกิดการดื้อยาได้ ไม่ควรกินยาหยุดถ่ายเพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงอยู่ในลำไส้ ต้องให้เด็กดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โออาร์เอส แต่ถ้าอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง อุจจาระบ่อย และไม่สามารถดื่มน้ำทดแทนได้ เด็กจะมีอาการขาดน้ำรุนแรง หากรับการรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจเกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์” นายแพทย์โอภาสกล่าว
ในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็ก ขอให้ผู้ดูแลเด็กล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร ชงนม หรือเตรียมอาหารให้เด็ก ก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากการใช้ห้องน้ำ สอนเด็กให้รู้จักล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก ดูแลเด็กให้รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
********************************** 24 กันยายน 2561