พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อวางกรอบการพัฒนาและบริหารจัดการด้านสาธารณสุข  เน้นการมีส่วนร่วม เชื่อมโยงบูรณาการของหน่วยงาน พร้อมเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ 4 คณะ  ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพ

             วันนี้ (11 ตุลาคม 2561) ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ประชุมคณะกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561  โดยมี ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาดไทย แรงงาน อุตสาหกรรม กลาโหม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

             พลเอก ฉัตรชัยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรก ของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการในการพัฒนาและบริหารจัดการด้านสาธารณสุขพื้นที่เขตสุขภาพพิเศษ ให้มีกรอบแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน และมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561  โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ และแผนการปฏิบัติการโดยให้ความเห็นชอบในหลักจัดตั้งคณะอนุกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ 4 คณะ ประกอบด้วย ด้านสาธารณสุขทางทะเล ด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้านสาธารณสุขชายแดน ด้านเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว) เพื่อพิจารณากรอบการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการระดับชาติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2562 – 2565) และเสนอต่อคณะกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติในการประชุมครั้งต่อไป

            พลเอก ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า พื้นที่เขตสุขภาพพิเศษทั้ง 4 ด้าน ไม่สามารถแก้ไขสภาพปัญหาด้วยระบบปกติ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาระบบต่าง ๆ โดย 1.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านสาธารณสุขทางทะเล เป้าหมายในระยะแรก  5 จังหวัดที่ได้รับความนิยมท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี จะเน้นบูรณาการเครือข่ายการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวในภาวะวิกฤตฉุกเฉินทางทะเล 2.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในระยะแรก 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง พัฒนางานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ

            3.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านสาธารณสุขชายแดน เป้าหมายระยะแรก 4 จังหวัดได้แก่ น่าน ตาก สระแก้ว และระนอง ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายประชากรแรงงานต่างด้าว มีภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลผู้ป่วยต่างด้าวที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ในปี 2561 จำนวน 1,830 ล้านบาท ปัญหาบุคคลไร้รัฐ โรคระบาดตามแนวชายแดน พื้นที่ทุรกันดาร จึงต้องพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ จัดระบบกองทุนสุขภาพพิเศษตามแนวชายแดน 4.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว) เป้าหมายระยะแรก  7 จังหวัด ได้แก่ ตาก ระนอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ กทม. ปทุมธานี และระยอง ซึ่งต้องมีการพัฒนารูปแบบหลักประกันสุขภาพประชากรต่างด้าว เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

 ************************************  11 ตุลาคม 2561



   
   


View 908    11/10/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ