“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ ใช้ 3 ยุทธศาสตร์ คือลดการเจ็บป่วยของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และพัฒนาศักยภาพสถานบริการ
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงว่า ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารเร่งแก้ไขปัญหาความแออัดการรับบริการในโรงพยาบาลใหญ่ ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ซึ่งในปี 2560 พบว่า ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลศูนย์เฉลี่ยวันละ 3,152 ราย โรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่วันละ 1,709 ราย โรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็กวันละ 1,204 ราย ผู้ป่วยในในโรงพยาบาลศูนย์มีอัตราครองเตียงเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนมีอัตราครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 70 ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปกว่าครึ่งเป็นโรคที่โรงพยาบาลชุมชนสามารถให้การดูแลรักษาได้
สำหรับแนวทางการลดความแออัดในโรงพยาบาล ให้นำ 3 ยุทธศาสตร์ไปใช้ คือ 1.ลดการเจ็บป่วยของประชาชน โดยการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง ใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ ทั้งทีมหมอครอบครัว คลินิกหมอครอบครัว มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นด่านหน้า 2.เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เป็นสมาร์ท ฮอสปิตอล เช่น ระบบนัดคิวออนไลน์ แอปพลิเคชัน(mHealth) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นต้น เปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม การบริหารจัดการเตียงภายในโรงพยาบาล การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันภายในจังหวัดและเขต
และ3.พัฒนาศักยภาพสถานบริการ โดยโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปจะเน้นการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยเพิ่มห้องผ่าตัด ห้องไอซียู พัฒนารูปแบบเครือข่ายการรักษาเฉพาะด้านตามแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) ระบบให้คำปรึกษา และส่งผู้ป่วยโรคที่ไม่หนักกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลต้นทาง พัฒนาโรงพยาบาลชุมชน แม่ข่าย และโรงพยาบาลชุมชนในการดูแลผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤตจากโรงพยาบาลใหญ่ก่อนกลับบ้าน (Intermediate Care) และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care)
********************************* 12 ตุลาคม 2561