“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ยาอย่างสมเหตุผล ลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นในโรคทางเดินหายใจส่วนบน อุจจาระร่วงเฉียบพลัน แผลสดอุบัติเหตุ คลอดปกติ ดูแลการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคไต หญิงตั้งครรภ์ และพัฒนาระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการในโรงพยาบาลใหญ่ 125 แห่ง ผู้ป่วยปลอดภัย ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะลงร้อยละ 20 ในปี 2564
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการโรงพยาบาลในสังกัด 1,000 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล 10,000 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการตามนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ โดยในปี 2562 เน้นใน 2 เรื่อง คือ 1.ลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นในโรคทางเดินหายใจส่วนบน อุจจาระร่วงเฉียบพลัน แผลสดอุบัติเหตุ คลอดปกติ เพื่อลดความเสี่ยงเชื้อดื้อยา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลรัฐมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และ2.ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และผู้ป่วยกลุ่มพิเศษที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ได้แก่ ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์หรือยาต้านวัณโรค เพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ได้ให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด ทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาค จำนวน 125 แห่ง พัฒนาระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการ ตั้งแต่ระบบเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ การควบคุมกำกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะยากลุ่มสงวนสำหรับเชื้อดื้อยา ระบบเตือนเมื่อตรวจพบเชื้อดื้อยาและเชื่อมโยงกับระบบป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลรวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วย ตั้งเป้าหมายในปี 2564 ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะลดลงร้อยละ 20 การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 และลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่เหมาะสม
************************************* 28 ตุลาคม 2561