“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข สร้างศูนย์รังสีรักษาดูแลผู้ป่วยมะเร็งครบวงจร ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จ.เชียงราย พะเยา และพื้นที่ใกล้เคียง ลดรอคอย ลดค่าใช้จ่าย รู้เร็ว รักษาทัน มีโอกาสหายจากโรคมะเร็ง
วันนี้ (29 ตุลาคม 2561) ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย และให้สัมภาษณ์ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเยี่ยมชมการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพบริการ และการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดรอคอย ลดแออัด ลดอัตราป่วยและตาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมขอสนับสนุนงบประมาณ 385 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี สร้างศูนย์รังสีรักษา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนารพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรักษาโรคมะเร็งของภาคเหนือตอนบน เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา จังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้านชายแดน ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาใกล้บ้าน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางซึ่งแต่เดิมไปรักษาที่ศูนย์มะเร็งลำปางหรือโรงพยาบาลสวนดอกเชียงใหม่
นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวต่อว่ารพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ มีความพร้อมจัดตั้งศูนย์รังสีรักษา โดยมีแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง จำนวน 17 คน สามารถให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดและให้ยาเคมีบำบัด หากศูนย์รังสีรักษาแล้วเสร็จจะทำให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคมะเร็งอย่างครบวงจร ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีรังสีรักษา จะมีโอกาสบรรเทาอาการของโรคได้มากขึ้น รองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยา หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณปี 2563 และในปี 2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของจังหวัดเชียงราย มีอัตราเสียชีวิตมากกว่า 93.82 ต่อประชากรแสนคน โรคมะเร็งที่พบบ่อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในปี 2558 พบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 1,821 ราย ปี 2559 จำนวน 2,488 ราย ปี 2560 จำนวน 2,405 ราย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ได้ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาฉายแสงที่ศูนย์มะเร็งลำปางในปี 2558 จำนวน 497 ราย ปี 2559 จำนวน 582 ราย และปี 2560 จำนวน 543 ราย ซึ่งมีระยะทางไกล ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงถึงปีละ 13,500,000 ต่อปี
****************************** 29 ตุลาคม 2561