กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระมัดระวังการใช้ยาแก้ปวด ลดอักเสบ กลุ่มเอนเสด ยาชุด ผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างสรรพคุณว่าบำรุงไตหรือล้างไต ลดความเสี่ยงโรคไตวาย

          นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข พบว่า     แต่ละปีมีผู้ป่วยที่ต้องล้างไตรายใหม่ประมาณ 15,000 – 20,000 คน แนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากการศึกษาของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากรที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 20 ปี หรือเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่ง อยู่ในระยะ 3-5 ที่ใกล้จะต้องล้างไต และระยะสุดท้ายที่ต้องล้างไตประมาณ 100,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งการใช้ยาที่ทำอันตรายต่อไต ที่พบปัญหามากที่สุดคือ เอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นกลุ่มยาแก้ปวด ลดการอักเสบ ที่คนไทยนิยมใช้เป็นจำนวนมาก ใช้เป็นประจำ เพราะช่วยลดไข้ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกได้ผลดี  เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาโปรเซน เป็นต้น ยาต้านจุลชีพบางชนิด เช่น  อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ยาชุด และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มักลักลอบใส่สารที่อันตรายที่มีพิษต่อไต ทำให้เกิดไตวายได้เช่นกัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างสรรพคุณว่าบำรุงไตหรือล้างไต ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาสูตรใดที่พิสูจน์ได้ทางการแพทย์ว่าสามารถทำให้การทำงานของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกลับมาเป็นปกติได้ ยาดังกล่าวแม้บางสูตรจะไม่ได้เป็นพิษต่อไตโดยตรง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยละเลยการดูแลไตจนโรคลุกลามได้

        นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ได้ให้หน่วยงานในสังกัด รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น ไม่ซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดอักเสบกลุ่มเอ็นเสดและยาปฏิชีวนะ ก่อนใช้ยา ขอให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม หรือยาจากสมุนไพรที่ผิดกฎหมายไม่ได้ขึ้นทะเบียน โอ้อวดสรรพคุณ รวมถึงยาชุด เพื่อป้องกันเป็นโรคไตจากการใช้ยา เนื่องจากยาเหล่านี้ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลงและทำลายเนื้อไตโดยตรง ทำให้เนื้อไตอักเสบเฉียบพลันหรือเกิดไตวายเฉียบพลัน หากมีสัญญาณเตือนโรคไตคือ มีอาการเหนื่อยง่าย บวม ปวดสีข้างด้านหลัง ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจการทำงานของไต และดูแลรักษาอย่างถูกต้องก่อนที่เนื้อไตจะถูกทำลายอย่างถาวร เป็นโรคไตวายเรื้อรังและเข้าสู่ระยะสุดท้าย ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องฟอกเลือดล้างไตหรือผ่าตัดปลูกถ่ายไตในที่สุด

 ************************************* 25 พฤศจิกายน 2561



   
   


View 3160    25/11/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ