สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 785 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข แนะรับมือกับสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน โดยปฏิบัติตามมาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจ หลีกการสัมผัสฝุ่นละออง หากออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัย
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีสถานการณ์ฝุ่นละอองมีขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน เช่น ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า (21 ธันวาคม 2561) ยังพบค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ใน 16 จุด โดยมี 3 จุด ที่สูงเกินค่ามาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ และ ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง สมุทรปราการ ได้สั่งการให้สถานพยาบาลในสังกัดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละออง จากกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งให้ความรู้ประชาชนและวิธีป้องกันที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ยังไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนหรือการเสียชีวิต ส่วนโรคระบบทางเดินหายใจมีแนวโน้มคงที่ และมีรายงานผู้ป่วยโรคตาแดงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนจำนวนผู้ที่เข้ารับบริการในห้องฉุกเฉินยังไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบจากช่วงปกติ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก กลุ่มผู้ที่ทำงานนานกว่า 12 ชั่วโมงในที่โล่งแจ้ง และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง
“ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ แต่ให้ตื่นตัวและติดตามข่าวสารเรื่องดังกล่าวจากทางราชการอยู่เสมอ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้เกินค่าในทุกพื้นที่ และพื้นที่ที่มีค่าเกินมาตรฐานก็ไม่ได้ค่าสูงอยู่ตลอดเวลา” นายแพทย์สุขุมกล่าว
ทางด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วิธีป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนเข้าสู่ร่างกาย มี 5 มาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” คือ 1.หลีกการสัมผัสฝุ่นละออง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ 2.ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันฝุ่นละออง หมั่นทำความสะอาดบ้านทุกวัน 3.ใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ เช่น N95, P100 4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานนานกว่า 12 ชั่วโมงในที่โล่งแจ้ง 5.ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
*********************************** 22 ธันวาคม 2561