สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 785 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ห่วงใย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว สนับสนุนมาตรการป้องปรามผู้ดื่มแล้วขับ ให้รพ.เจาะเลือดหาระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่กรณีมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ลดการบาดเจ็บจากการจราจรช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562
วันนี้ (24 ธันวาคม 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พลตำรวจโท ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้อํานวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “สธ.ห่วงใย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว”
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางกลับบ้าน หรือเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 27 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” สร้างความปลอดภัยให้ประชาชนกลับถึงบ้าน ได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น มีความสุข ตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระชาติ ดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เข้มข้นในช่วงเทศกาลสำคัญ เนื่องจากสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุมาจากการดื่มแล้วขับขี่ พบผู้บาดเจ็บจากการดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7
กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนมาตรการป้องปรามผู้ดื่มแล้วขับ โดยกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สสส. จัดทำโครงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ ในกรณีที่เหตุนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตลอดปี 2562 เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กว่า 69 ล้านบาท และเข้มข้นการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและผู้ที่มีอาการเมาสุรา และการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ เน้นในลมหายใจในกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์
นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการ โดย แจ้งเหตุเร็ว ขยายคู่สายแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 เป็น 300 คู่สายทั่วประเทศ รับเร็ว ใช้ชุดปฏิบัติการทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ เอกชน และโรงพยาบาลต่าง ๆ ถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของการออกเหตุทั้งหมด ส่งเร็ว ส่งต่อถึงมือแพทย์ในห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินทุกโรงพยาบาล ทำการรักษาอย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)
ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ “ขับรถดีมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ที่กระทรวงสาธารณสุขและระดับจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล สนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของอปท. ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินของโรงพยาบาลและเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน ทั้งชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (Advanced Life Support : ALS ) ระดับกลาง (Intermediate Life Support Unit : ILS) ระดับต้น (Basic Life Support : BLS) และระดับเบื้องต้น (First Response Unit : FR) จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (Basic Life Support : BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (Advanced Life Support : ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/ จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว โดยมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 8,583 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 20,741 คัน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 166,441 คน
นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ รวมทั้งเตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู อุปกรณ์ต่าง ๆ และระบบส่งต่อ พร้อมดูแลหากเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วยต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนดเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง จากการวิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการในช่วง 7 วัน เทศกาลปีใหม่ 2561 มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษา 27,158 ราย เฉลี่ยวันละ 3,880 ราย เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติร้อยละ 67 ซึ่งช่วงปกติเฉลี่ยวันละ 2,320 ราย ทำให้ในช่วงเทศกาลเจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งที่การบาดเจ็บจากการจราจรเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน อสม. และพชอ. ร่วมรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น การตั้งด่านชุมชน และทำงานเชิงรุก ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ช่วงก่อนเทศกาล สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดช่วงเทศกาล โดยเฉพาะกรณีการขายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย การเร่ขาย การโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม) เนื่องจากพบว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่าน ร้อยละ 17.91 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มสุราเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เกือบทุกรายเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์และไม่สวมหมวกนิรภัย
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวัง ตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงก่อนเทศกาล และดำเนินการตรวจจับอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาล 7 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเสี่ยงจำนวน 144 อำเภอ อยู่ใน 60 จังหวัด และได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือดหา
ปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ในกรณีที่อุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย ดำเนินการตลอดปี 2562 โดยส่งตรวจได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รพ.รัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการ และโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกือบทุกสังกัด เนื่องจากพบว่าสามารถป้องปรามผู้ดื่มแล้วขับได้ ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 เพียง 7 วัน พบผู้ขับขี่มีระดับแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สูงถึงเกือบร้อยละ 60 แต่มาตรการนี้ส่งผลให้ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บและดื่มสุราลดลงถึงร้อยละ 10
ทั้งนี้ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บลดลงจากปี 2560 โดยมีจำนวนอุบัติเหตุ 3,841 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรุนแรง 4,005 คน และมีผู้เสียชีวิต 423 ราย เป็นการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุสูงถึงร้อยละ 60 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด มาจากการเมาสุราร้อยละ 43.66 รองลงมาเป็นขับรถเร็วร้อยละ 25.23 โดยเสียชีวิตบนถนนหลวงมากที่สุดร้อยละ 62 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตร้อยละ 80 เป็นรถจักรยานยนต์ มักเกิดเหตุบนถนนสายรอง กลุ่มที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดมีอายุ 15-19 ปี รองลงมาคือ 20-24 ปี เวลาที่เกิดเหตุสูงสุด 16.00 – 21.00 น. วันที่เกิดเหตุสูงสุดคือ 31 ธันวาคม 2559
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่สถานพยาบาลส่งตรวจ ด้วยเครื่อง Gas Chromatography ให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO/IEC 17025 ทราบผลภายใน 7-10 วันทำการ นอกจากนี้ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ มีบริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ โดยใช้วัสดุอ้างอิงรับรองและสารมาตรฐาน ซึ่งได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 หากพบว่าเครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดจะทำการปรับตั้งค่าใหม่ เพื่อให้เครื่องสามารถตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจควรต้องผ่านการสอบเทียบ ตามรอบระยะเวลา 6 เดือน โดยที่จะมีสติกเกอร์ติดรับรองไว้ที่ตัวเครื่อง
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลเพิ่มสูงกว่าช่วงเวลาอื่น ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก สสส. ขอส่งมอบของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย ด้วยการชักชวนให้เดินทางปลอดภัย รณรงค์ลดอุบัติเหตุภายใต้แคมเปญ "กลับบ้านปลอดภัย" ผ่านโฆษณาชุด "สูญเสียกันทุกฝ่าย" และบทเพลง "คิดถึง" เพื่อย้ำเตือนถึงความรักของคนในครอบครัวที่รอคอยการเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย จากข้อมูลวิชาการพบว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนกันโดยรถใช้ความเร็วที่ 60 กม./ชม. ความรุนแรงเทียบเท่ากับการตกตึก 5 ชั้น ถ้าใช้ความเร็วที่ 80 กม./ชม. จะเทียบเท่ากับการตกตึก 8 ชั้น ถ้าใช้ความเร็วที่ 120 กม./ชม. ความรุนแรงเทียบเท่ากับการตกตึก 19 ชั้น แสดงให้เห็นว่า การใช้ความเร็วมากขึ้นทำให้อัตราเสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้น พร้อมรณรงค์ให้มอบของขวัญสุขภาพดีไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระตุ้นย้ำเตือน "ให้เหล้า=แช่ง" ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เทศกาลปีใหม่นี้ไม่มีของขวัญชิ้นใดที่ล้ำค่าไปกว่าคนในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากัน
ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ.2560 ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่าหากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจหรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือกรณีผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน
************************************************* 24 ธันวาคม 2561
*******************************