“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พัฒนาสถานพยาบาลในเรือนจำให้เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ดูแลครอบคลุมทั้งด้านส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้บริโภค
วันนี้ (22 มกราคม 2562) ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือกับนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการพัฒนาสถานพยาบาลในเรือนจำให้มีศักยภาพ ดูแลสุขภาพผู้ต้องขังอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมและกำจัดโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข
นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมมือกันพัฒนารูปแบบการจัดบริการระบบบริการสาธารณสุขสำหรับ ผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางพัฒนาการจัดบริการปฐมภูมิในเรือนจำ ให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมและกำจัดโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข และเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งร่วมมือกับสองหน่วยงานคือ กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่เพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำที่เป็นเครือข่ายระดับเขตหรือจังหวัด ดำเนินงานตามบริบทสภาพปัญหาและศักยภาพของพื้นที่
“ความร่วมมือของหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานนี้ จะช่วยให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และช่วยให้นโยบายการคืนคนดีสู่สังคมบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ โดยการคืนคนสุขภาพดีสู่สังคม และไม่ทิ้งกลุ่มคนด้อยโอกาสที่สุดของประเทศไว้ข้างหลัง” นายแพทย์นายประพนธ์ กล่าว
สำหรับการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการใน 4 ด้าน คือ 1.โรงพยาบาลในเขตพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ จำนวน 50 แห่ง 2.จัดห้องพักพิเศษสำหรับผู้ต้องขังที่ถูกส่งต่อมาจากเรือนจำ และสถานที่สำหรับนอนเฝ้าของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ โดยจัดช่องทางพิเศษ 28 จังหวัด ห้องพิเศษ 12 จังหวัด และจัดสถานที่นอนเฝ้าฯ 11 จังหวัด 3.ออกระเบียบและแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกรมราชทัณฑ์ และ 4.จัดบุคลากรและจัดบริการในเรือนจำ 55 จังหวัด
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเรือนจำทั่วประเทศจำนวน 143 แห่ง มีการจัดบริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ 110 แห่ง ดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 107 แห่ง แม่ข่ายของกรมราชทัณฑ์ 2 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง
***************************** 22 มกราคม 2562