“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขประชุมทางไกลร่วมกับหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศซักซ้อมความเข้าใจและมาตรการ เฝ้าระวังสถานการณ์ควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก กำชับสถานบริการต้องไม่มีลูกน้ำยุงลาย และดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่อเนื่อง พร้อมใช้แนวทางตามมาตรการ 3-3-1 และ 3 เก็บ 3 โรค
วันนี้ (12 มีนาคม 2562) ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมทางไกล กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และผู้รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมโรคทั่วประเทศ เพื่อกำชับหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก หากไม่มีมาตรการควบคุมโรคอาจระบาดคล้ายในปี 2556 ที่มีผู้ป่วยมากกว่า 150,000 ราย โดยปีนี้พบการระบาดขยายวงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง เช่น จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า เพื่อควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก จึงได้ซักซ้อมทำความเข้าใจ ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินมาตรการโรคไข้เลือดออก ดังนี้ 1) เฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออก หากอำเภอและจังหวัดเป็นพื้นที่ระบาด ให้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และให้รายงานต่อนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกสัปดาห์ 2) เน้นย้ำให้สถานบริการปลอดลูกน้ำยุงลาย 3) จัดระบบการส่งต่อผู้ป่วย ให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา 4) ดำเนินการสื่อสารความเสี่ยง เน้นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน และหญิงตั้งครรภ์ และสื่อสารแก่ร้านขายยา คลินิก ไม่ให้จ่ายยา NSAIDs ในผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้เลือดออก 5) ขอให้จิตอาสาและหน่วยงานทุกภาคส่วน ร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค เน้นมาตรการ
3-3-1 คือ หากพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ให้แจ้งหน่วยสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทราบภายใน 3 ชั่วโมง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมงหลังได้รับรายงาน สำรวจและกำจัดลูกน้ำยุงลายพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย ในรัศมี 100 เมตร ของบ้านผู้ป่วยและจุดที่สงสัยเป็นแหล่งโรคภายใน 1 วัน โดยให้ดำเนินการต่อเนื่อง 28 วัน
“ขอให้ประชาชนร่วมมือกันจากการใส่ใจจุดเล็ก ๆ ภายในบ้าน ช่วยกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะก่อนถึงฤดูฝนนี้ และให้สถานบริการทุกแห่งต้องไม่มีลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค คือ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และ เก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย”
ทั้งนี้ สถานการณ์ไข้เลือดออกในปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 มีนาคม พบผู้ป่วย 9,044 คนเสียชีวิต จำนวน 7 ราย เฉพาะเดือนมกราคมปี 2562 มีผู้ป่วย 5,555 คน ซึ่งสูงกว่า 4 เท่าตัวของปี 2561 ที่มีเพียง 1,279 คน พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก มีปัจจัยเสี่ยงคือ โรคเรื้อรังประจำตัว ซื้อยากินเองและไปรักษาที่คลินิกหลายแห่ง นอกจากนี้การสำรวจลูกน้ำยุงลายยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยเฉพาะในโรงเรียน ศาสนสถาน และโรงพยาบาล โดยประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ คำแนะนำป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก รวมถึงการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ได้ที่ Line@อาสาปราบยุง หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
********************************** 12 มีนาคม 2562
***************************************************