“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญตั้งเป้าให้โรงพยาบาลในสังกัดต้องเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางสาธารณสุข เป็น 2P Safety Hospital 100%
วันนี้ (15 มีนาคม 2562) ณ อิมแพคเมืองทองธานี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปิดการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 20 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “โรงพยาบาล HA โรงพยาบาลคุณภาพและความปลอดภัย”
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า โรงพยาบาลในประเทศไทย ได้พัฒนากระบวนการคุณภาพและผ่านการรับรองตามมาตรฐาน HA มากว่า 20 ปี เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (Patient and Personnel Safety : 2P Safety) ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ร่วมกับผู้บริหาร 16 องค์กร เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สภาวิชาชีพ 6 สภาวิชาชีพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นต้น
ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ปี 2562 มีโรงพยาบาลสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาเป็น 2P Safety Hospitals จำนวน371 แห่ง ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในทุกสังกัด แสดงถึงการให้ความสำคัญของผู้บริหารในการพัฒนาระบบเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรต้องทำ ด้วยสมัครใจ โดยในปีนี้ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบร่วมกันให้โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เป็น “2P Safety Hospital” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์บริการที่ดีทั้งกับผู้ป่วย ญาติ และบุคคลากร ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน นำไปสู่การมีระบบและวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ดีในระบบบริการสุขภาพอย่างยั่งยืน
“แนวคิดงานประชุมวิชาการในปีนี้ เชื่อมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุข องค์กรวิชาชีพ และองค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันผลักดันนโยบาย 2P Safety มีความตั้งใจดีที่จะร่วมกันสร้างระบบบริการสุขภาพที่ดีเพื่อทุกคน แต่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายใด ๆ ก็ตามไม่สามารถสำเร็จผลได้ หากไม่มีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติด้วยความเข้าใจ วันนี้ผมเห็นโอกาสแห่งความสำเร็จของนโยบายนี้ เพราะนอกจากโรงพยาบาลจะนำแนวทาง หลักคิด วิธีการเรื่อง 2P Safety ไปปฏิบัติแล้ว สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลยังบูรณการ เรื่อง National Patient and Personnel Safety เข้าไปในมาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลฉบับปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สามารถจับต้องได้คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร” ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าว
ทั้งนี้ ในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบประกาศนียบัตร ให้กับสถานพยาบาลผ่านการต่ออายุการรับรองกระบวนการคุณภาพ (HA)จำนวน 233 แห่ง, กิตติกรรมประกาศ เครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด จำนวน 4 เครือข่าย,กิตติกรรมประกาศ สถานพยาบาลผ่านการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค จำนวน 18 แห่ง ประกาศนียบัตร สถานพยาบาลที่บรูณามิติจิตวิญญาณในการพัฒนาคุณภาพ (SHA Award) จำนวน 6 แห่ง กิตติกรรมประกาศ สถานพยาบาลผ่านกระบวนการคุณภาพขั้นที่ 2 จำนวน 9 แห่ง และ กิตติกรรมประกาศ สถานพยาบาลผ่านกระบวนการคุณภาพขั้นที่ 1 จำนวน 7 แห่ง
นอกจากนี้ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบเกียรติบัตรชื่นชมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) จำนวน 48 อำเภอ และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) 2 เขต ของกรุงเทพมหานคร ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน และ
เป็นแบบอย่างที่ดี และกล่าวว่า การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ตามแนวคิด “พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ก่อให้เกิดวัฒนธรรม “คนอำเภอเดียวกันไม่ทอดทิ้งกัน” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม เกิดชุมชนสุขภาวะ เมืองสุขภาพดี เป็นสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน
ขณะที่ นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ อยากเห็นเจ้าหน้าที่และคนที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาลได้เข้าใจ ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายเพื่อนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คาดหวังว่าจะเห็นประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
“โรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพจะต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงระบบงาน กระบวนการรองรับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยที่จะมีเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นในโรงพยาบาลเล็ก จะมีเทคโนโลยีช่วยในการรักษา หรือแม้แต่ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ในส่วนของสถานบริการ จะมีการเปลี่ยนแปลงในมิติของการเชื่อมต่อกับหน่วยงานภายนอก เช่น การส่งยา เวชภัณฑ์ เพื่อให้ตอบโจทย์ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่ง AI หรือเทคโนโลยีและหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น” นพ.กิตตินันท์กล่าว
******************************* 15 มีนาคม 2562
*************************************