กระทรวงสาธารณสุข สั่งเฝ้าระวังการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนอย่างเคร่งครัด หลังพบไก่ติดเชื้อตายที่ฟาร์มเลี้ยงไก่อำเภอชุมแสง นครสวรรค์ เผยผลการค้นหาของทีมสอบสวนโรค เบื้องต้นยังไม่พบผู้สัมผัสไก่มีอาการป่วยแต่อย่างใด ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 14 วัน เตือนประชาชนบริโภคไก่และไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น
จากกรณีที่มีข่าวตรวจพบไก่เนื้อ ที่เลี้ยงในฟาร์มเลี้ยงไก่ศรีไพรฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 30/2 หมู่ 3 ตำบลพิกุล ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ติดเชื้อไข้หวัดนก เอช 5 เอ็น 1 ใน หลังมีไก่เนื้อป่วยตายผิดปกติ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2551 นั้น
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เคยเป็นพื้นที่เสี่ยงมาก่อน การพบไก่ตายจำนวนมาก และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเป็นเชื้อไข้หวัดนก เอ็ช 5 เอ็น 1 ในฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ในครั้งนี้ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังการติดเชื้อในคนอย่างเข้มงวด เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต และป้องกันเชื้อกลายพันธุ์
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้สั่งการให้นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สำนักงานควบคุมโรคเขต 8 และสำนักงานสาธารณสุข จ.นครสวรรค์ ลงไปที่หมู่ 3 ต.พิกุล อ.ชุมแสง เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และค้นหาผู้สัมผัสไก่ในฟาร์มทุกคนแล้ว ซึ่งมีพนักงานเกี่ยวข้องทั้งหมด 10 คน เบื้องต้นยังไม่พบผู้สัมผัสไก่ในฟาร์มมีอาการป่วยแต่อย่างใด ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. เฝ้าติดตามอาการผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิดทุกวันและคนในชุมชนรอบข้าง เป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ กล้ามเนื้อ และร่างกาย ไอแห้งๆ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ตาแดง หรือบวม ให้ส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลทันที
สำหรับโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดนครสวรรค์และพื้นที่ใกล้เคียง ได้สั่งการให้แพทย์ พยาบาล ตรวจสอบประวัติผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ หรือมีปัญหาปอดอักเสบ ปอดบวมโดยละเอียด ให้ซักถามประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรืออยู่ในพื้นที่มีสัตว์ปีกป่วยตายทุกราย เพื่อให้การดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่ง มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยทั้งยาต้านไวรัสและห้องแยกปลอดเชื้อ
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากคนสามารถติดเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดนกจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อหรือตาย โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับมูลสัตว์ ปัสสาวะ น้ำมูก น้ำลาย ขน อวัยวะต่างๆหรือเลือดของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะติดที่มือ สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ทางปาก จมูก และตา ดังนั้นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด โดยการสวมถุงมือ หมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยสบู่ ทั้งก่อนทานอาหาร หลังไอจาม และหลังเข้าห้องน้ำ ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม
สำหรับเนื้อไก่และไข่ไก่ที่มีขายตามท้องตลาดขณะนี้ ถือว่าปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องทำให้สุก งดรับประทานอาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ ขอย้ำเตือนประชาชน หากมีสัตว์ปีกป่วยหรือตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรืออสม.ทันที ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ มารับประทานอย่างเด็ดขาด อย่าโยนสัตว์ตายลงแม่น้ำ เพื่อร่วมกันควบคุมป้องกันการระบาดของโรคให้สงบโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญเด็กคือคนที่ได้รับเชื้อง่ายที่สุด ระวังอย่าให้เด็กเล่นคลุกคลีกับสัตว์ปีกหรือขนของมัน เพราะอาจมีเชื้อไวรัสติดอยู่ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
************************ 24 มกราคม 2551
View 19
24/01/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ