กระทรวงสาธารณสุข เผยปัญหาการแพร่ระบาดสารเสพติดสี่คูณร้อย น่าเป็นห่วง พบการพัฒนาสูตรใช้ตัวยาอันตรายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสูตร วันทูคอล ใส่กาแฟร้อนหรือนมเปรี้ยวผสม เร่งระดมสมองทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา เน้นการค้นหากลุ่มเสพรับการบำบัดรักษา ป้องกันกลุ่มเสี่ยงเสพยา และการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยากล่อมประสาท 3 ชนิด ที่นำไปผสม และเตรียมเสนอเพิ่มโทษพืชกระท่อมให้เทียบเท่ากัญชา
วันนี้ (25 มกราคม 2551) ที่โรงแรมโนโวเทล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสำนักงานปราบปรามยาเสพติด ผู้กำกับการตำรวจ และผู้แทนจากหน่วยงานใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ กองทัพภาค 4 ฝ่ายการเมือง ผู้นำศาสนา ฝ่ายปกครอง ฝ่ายการศึกษา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ นักวิชาการ องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน เพื่อระดมสมองร่วมวางมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดสารเสพติดในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งผู้ใช้สารเสพติดมักเป็นกลุ่มวัยรุ่น
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาสารเสพติดในประเทศไทยมีแนวโน้มกลับมาระบาดรุนแรงขึ้นและแตกต่างกัน เช่น ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหาจากสารระเหยในแทบทุกชุมชน แต่ในชุมชนเมืองใหญ่ เช่นกทม. เชียงใหม่ ชลบุรี มีปัญหาเรื่องยาบ้า ส่วนภาคใต้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดหลายชนิด เช่น พืชกระท่อม ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ในอดีตพบว่าคนเฒ่า คนแก่ และผู้ใช้แรงงาน จะใช้เป็นยาสมุนไพร นำใบมาต้มหรือเคี้ยวใบสดใช้รักษาโรค เช่น โรคบิด โรคกระเพาะ หรือปวดเมื่อย ไม่ได้นำมาเพื่อเสพเป็นสารเสพติด แต่ขณะนี้มีวัยรุ่นนำพืชกระท่อมมาใช้มากขึ้นและใช้เพื่อการเสพติด เช่นนำมาผสมในสูตรสี่คูณร้อย โดยนำน้ำต้มใบกระท่อมมาผสมกับยาแก้ไอ ยากล่อมประสาทหรือกัญชา ซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง และผสมกับน้ำอัดลม
ที่น่าเป็นห่วงคือมีการพัฒนาหลายสูตรที่มีอันตรายต่อผู้เสพเพิ่มขึ้น เช่น ใส่ยากันยุงชนิดขด ใส่สารผงจากหลอดฟลูออเรสเซน ล่าสุดมีสูตรที่เรียกว่าวันทูคอล ใส่กาแฟร้อนหรือนมเปรี้ยวลงด้วย ใช้กันที่ระนอง เพราะเชื่อว่าจะแก้เมา ไม่ง่วงนอน พฤติกรรมการเสพสี่คูณร้อย เป็นการเสพแบบพฤติกรรมหมู่ ทำให้เกิดการมึนเมา ผลในระยะสั้นทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจร ซึ่งมีข้อสังเกตว่าวัยรุ่นที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักยานยนต์ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ร้อยละ 85 อยู่ในอาการมึนเมาโดยที่ไม่มีกลิ่นแอลกอฮอล์ และหากดื่มต่อเนื่องระยะยาว จะเกิดโทษต่อสมอง สมองถูกทำลาย เกิดโรคจิต โรคหวาดระแวงได้
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า ในปี 2551 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงบประมาณแก้ไขปัญหายาเสพติด 275 ล้านบาทเศษ ตั้งเป้าบำบัดผู้เสพยาและติดตามผลไม่ให้หวนกลับไปเสพซ้ำ 19,000 ราย รวมทั้งการป้องกันเยาวชนกลุ่มเสี่ยงทั้งในและนอกสถานศึกษา และควบคุมการลักลอบใช้ยาในทางที่ผิด โดยเฉพาะยาแก้ไอ ยากล่อมประสาท โดยจะเสนอการควบคุมพืชกระท่อม ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ให้มีโทษแรงขึ้นเช่นเดียวกับกัญชา ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 คือ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง หากมีไว้ในครอบครองเกิน 10 กิโลกรัม ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท เดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดให้โทษในเขตจังหวัดชายแดนใต้ ในปี 2551 นี้ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 6 ล้าน 4 แสนกว่าบาท ดำเนินการในจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอของสงขลา ตั้งเป้าบำบัดผู้เสพยาปีนี้ 1,000 คน ในปีที่ผ่านมามีผู้เสพยาเข้ารับบำบัดน้อยมากไม่ถึง 500 คน และจะพัฒนาความเข้มแข็งให้เยาวชนมีภูมิต้านทานยาเสพติด พัฒนาการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการป้องกันปัญหายาเสพติด ในโครงการร่วมใจต้านยาเสพติดเทิดไท้องค์ราชัน ตั้งเป้าลดเยาวชนใช้ยาเสพติดรายใหม่ลงให้ได้ร้อยละ 10 โดยได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ วิจัยและพัฒนาชุดตรวจพิสูจน์พืชกระท่อมในปัสสาวะ ใช้งบประมาณ 100,000 บาท
ทางด้านนายแพทย์นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการใช้ยากล่อมประสาท ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 3 และ 4 ที่อยู่ในความควบคุมของ อย. ซึ่งวัยรุ่นนำไปผสมสูตรสี่คูณร้อย ได้แก่ อัลปราโซแลม (Alprazolam) ตามกฎหมายให้ขายในร้านขายยาได้แต่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ และต้องทำรายงานการใช้ส่ง อย.ทุกเดือน
สำหรับยาแก้ไอสูตรที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมนั้น จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 มีการควบคุมการจำหน่ายตามกฎกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546 ผู้ผลิต นำเข้า ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้เฉพาะแก่สถานพยาบาลที่มีผู้ป่วยค้างคืนเท่านั้น ห้ามจำหน่ายในคลินิกและร้านขายยา ในทางปฏิบัติเคยพบว่ามีการระบาดในจังหวัดชายแดนมาเลเซียและพม่า อย. ได้ควบคุมปริมาณการใช้โคเดอีนของประเทศไทยกำหนดไม่เกิน 800 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 202 พ.ศ. 2550 และจำกัดการครอบครองไม่เกิน 250 ซี.ซี. หรือ 30 เม็ดหรือ 30 แคปซูล หากเกินสันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 181 พ.ศ. 2545
นายแพทย์นรังสันต์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่มีการควบคุมปริมาณการใช้โคเดอีน ทำให้ยาแก้ไอสูตรที่มี โคเดอีนเป็นส่วนผสมถูกควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด จึงมีการเปลี่ยนไปใช้ยาแก้ไอที่เป็นยาอันตรายอื่นๆ แทน สำหรับแผนการควบคุมยาอันตรายนั้น ทาง อย. จะสนับสนุนให้มีการลงนามความร่วมมือเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ประกอบการร้านขายยาใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ และจัดสัมมนาร้านขายยาเพื่อสร้างความร่วมมือในการควบคุมและจำหน่ายยาและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
********************************* 25 มกราคม 2551
View 12
25/01/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ