กระทรวงสาธารณสุข เผยโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองของไทยที่จังหวัดชลบุรีและระยอง กลายเป็นโครงการเดียวที่ก้าวมาไกลที่สุดในโลก ชี้ผลการศึกษาในรอบ 4 ปีมานี้ เป็นที่ชื่นชมของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญระดับโลก มีอาสาสมัครฉีดวัคซีนครบ 4 ครั้งตามกำหนด จำนวน 13,978 คน หลังฉีดสุขภาพไม่น่าห่วง เดินหน้าติดตามต่อและจะประเมินครั้งใหญ่รอบตัดเชือกให้คำตอบโลกในปีหน้านี้
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการวิจัยวัคซีนทดลองของประเทศไทย ซึ่งเป็นขั้นตอนในระยะที่ 3 ขั้นตอนสุดท้าย ร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อดูประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนนำมาใช้จริง ดำเนินการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครชายหญิงอายุ 18-30 ปี ที่จังหวัดชลบุรีและระยอง และไม่ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 16,402 คนเริ่มคัดกรองอาสาสมัครตั้งแต่พ.ศ.2546และเริ่มฉีดเมื่อเดือนตุลาคม 2546 ว่าโครงการวิจัยวัคซีนทดลองที่ประเทศไทยดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการศึกษาวัคซีนที่ใช้กับสายพันธุ์เอชไอวีในประเทศไทย ซึ่งกว่าร้อยละ90 เป็นสายพันธ์อี ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ประมาณร้อยละ3 ของสายพันธ์เอชไอวีที่แพร่ระบาดทั่วโลก ไทยจึงต้องขวนขวายที่จะทำการทดสอบวัคซีนเอดส์เอง ในการทดลองได้ใช้วัคซีนสังเคราะห์มีคุณสมบัติเดียวกันกับสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี 2 ชนิด คือวัคซีนอัลแวค เอชไอวีวัคซีน(ALVAC-HIV) ของบริษัทซาโนฟี ปาสเตอร์ ทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันในเซลล์เม็ดเลือด ขาว และวัคซีนเอดส์แวกซ์ ( AIDSVAX ) ของบริษัทแวกซ์เจน ทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด และตลอดการศึกษาได้เก็บตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครไว้ทั้งหมด อยู่ในคลังเก็บรักษาที่โรงพยาบาลแม่และเด็ก จังหวัดชลบุรี เก็บได้ 600,000 ตัวอย่าง นานกว่า10 ปี
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนของการทดลองอยู่ในขั้นของการติดตามประเมินผล โดยฉีดวัคซีนทดลองครบ 4 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน เสร็จสิ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2549 และติดตามผลเป็นเวลา 3 ปี จะครบกำหนดและแปลผลในพ.ศ.2552 โดยมีอาสาสมัครฉีดครบถ้วนจำนวน 13,978 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 97 ได้รับการตรวจเลือดติดตามผลครบ1 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2550 และอีกร้อยละ82 ได้รับการติดตามผลตามกำหนด1 ปีครึ่ง แล้ว และขณะนี้มีอาสาสมัครได้รับการติดตามผลครบ 3 ปี แล้วถึง 3,092 คน คาดว่าจะมาครบกำหนดติดตามผล 3 ปี ทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 ซึ่งหากดูในภาพรวมของการทดลองวัคซีนเอดส์ทั่วโลกแล้ว โครงการของไทยถือว่าเป็นโครงการเดียวที่ก้าวมาไกลที่สุดในโลก เป็นที่จับตามองและเฝ้ารอคอยผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกอย่างใจจดใจจ่อ
ทางด้านนายแพทย์ศุภชัย ฤกษ์งาม ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองในระยะที่ 3 กล่าวว่า ตลอดโครงการทดลองวัคซีนนี้ คณะกรรมการได้ติดตามผลหลังฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลพบว่าไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนทั่วไป เช่นมีอาการปวด บวม แดงหลังฉีด ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ50 ของผู้ที่รับการฉีด โดยคณะกรรมการติดตามข้อมูลความปลอดภัย ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญการวิจัยโรคเอดส์ทั้งไทยและต่างประเทศรวมทั้งองค์การเอกชนสาธารณประโยชน์หรือเอ็นจีโอ ได้ประชุมและติดตามผลอย่างต่อเนื่องแล้ว7 ครั้ง มีข้อสรุปว่าไม่มีข้อกังวลด้านความปลอดภัยต่อวัคซีนรวมทั้งกระบวนการวิจัย และให้ไทยดำเนินการวิจัยตามแผนเดิมได้จนครบกระบวนการประเมินผลในปี2552
ทั้งนี้ อาสาสมัครที่ร่วมโครงการทุกคน จะได้รับการติดตามบันทึกสุขภาพ การเจ็บป่วยอย่างละเอียดถี่ถ้วน และวิเคราะห์ว่าสาเหตุการเจ็บป่วยเป็นผลมาจากวัคซีนทดลองหรือไม่ คณะกรรมการดังกล่าวมีความพึงพอใจการดำเนินงานและชื่นชมทีมวิจัยที่สามารถรักษาคุณภาพการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดโครงการตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบรายใดที่บ่งบอกว่าป่วยหรือเสียชีวิตจากวัคซีน
นายแพทย์ศุภชัยกล่าวต่ออีกว่า เป้าหมายหลักของโครงการทดลองวัคซีนเอดส์ขั้นสุดท้ายในไทยครั้งนี้ เพื่อให้คำตอบโลก 2 ประการว่า วัคซีนสามารถทำให้การติดเชื้อโรคเอดส์ลดลงได้ร้อยละ 50 หรือไม่ และหลังได้รับวัคซีนไปแล้ว หากเกิดการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากพฤติกรรมเสี่ยง โรคจะก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ช้ากว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ โดยทั่วไปอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในพื้นที่วิจัยพบได้ 4 คนในประชากร 1,000 คน ในรอบ 1 ปี ซึ่งผลการศึกษาหากได้ผลเป็นไปตามเป้าหมาย จะเข้าสู่ขั้นตอนของการผลิตวัคซีนต่อไป ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนเตรียมการไว้แล้ว แต่หากประเมินแล้วไม่มีผลต่อการป้องกัน ไม่ได้หมายถึงความล้มเหลว เนื่องจากเรากำลังวิจัยว่าวัคซีนที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ใช้ได้จริงหรือไม่ เมื่อได้คำตอบแสดงถึงว่าได้ทำสำเร็จตามขั้นตอนระดับสากล ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ก้าวมาถึงขั้นตอนนี้
************************************** 27 มกราคม 2551
View 12
27/01/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ