“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชนดูแลสุขภาพในช่วงหน้าร้อน ดื่มน้ำให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สวมเสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี สวมแว่นกันแดด และใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดให้เหมาะสมกับสภาพผิว ลดความเสี่ยงอันตรายจากแสงแดดได้
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนจัด แดดแรง ประชาชนอาจได้รับความร้อนมากเกินไป มีภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดหรือฮีสโตรก (Heat Stroke) โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) นอกจากนี้ รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีในแสงแดด ซึ่งมีความสำคัญในการสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนัง และการสร้างเสริมเนื้อเยื่อกระดูก แต่ก็อาจทำให้ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) และเกิดอันตรายต่อดวงตาได้หากไม่มีการป้องกัน
นายแพทย์ไพศาลกล่าวต่อว่า ในการดูแลตนเองในสภาพอากาศร้อน แดดแรง ขอแนะนำประชาชน โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด โดยเฉพาะช่วง 10.00 น. - 14.00 น. ซึ่งอากาศจะร้อนจัด แดดแรง มีปริมาณรังสียูวีเข้มข้น และจะเข้มข้นมากที่สุดในช่วงเที่ยงวัน ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร สวมใส่เสื้อผ้ามีสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี สวมแว่นกันแดด สวมหมวก กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด หากจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งหรือกลางแดด ขอให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน และดื่มน้ำเย็น 2 - 4 แก้วทุกชั่วโมง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดให้เหมาะกับสภาพผิว ซึ่งมีทั้งชนิดครีม โลชั่น เจล บางชนิดมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ คนที่มีผิวค่อนข้างมันหรือเป็นสิว ควรเลือกใช้ชนิดที่เป็นโลชั่นหรือเจล เพราะไม่ทำให้เหนียวเหนอะหนะ ส่วนคนที่มีผิวแห้งควรเลือกใช้ชนิดครีม ซึ่งมีส่วนที่เป็นน้ำมันช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น ไม่ควรใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น และการเลือกผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดให้ดูค่า SPF ที่แสดงถึงความสามารถในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังจากรังสียูวีบี ซึ่งควรมีค่า 30 ขึ้นไป และค่า PA แสดงถึงความสามารถในการป้องกันการดำคล้ำของผิวหนังจากรังสียูวีเอ ให้มีค่า PA ++ ถึง PA+++ และควรเลือกครีมกันแดดที่มีความทนน้ำทนเหงื่อได้ (water resistant) โดยทาก่อนออกแดด 30 นาที และต้องทาซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมงในขณะที่ยังอยู่กลางแจ้ง หรือทาซ้ำทันทีหลังจากที่เหงื่อออกหรือขึ้นจากสระว่ายน้ำ
****************************************** 28 เมษายน 2562