“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังสถานการณ์เด็กจมน้ำช่วงปิดเทอม สาเหตุการเสียชีวิตหลักจากการเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ แนะติดอุปกรณ์ช่วยลอยตัวไปด้วยทุกครั้งที่เล่นน้ำ ชุมชนช่วยสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง ติดป้ายสัญลักษณ์เตือน ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น”
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนมักมีเด็กนักเรียนเสียชีวิตจากการจมน้ำทุกปี จากข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 23 เมษายน 2562 เกิดเหตุเด็กตกน้ำ จำนวน 49 เหตุการณ์ เสียชีวิตรวม 53 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน อายุ 5-9 ปี ร้อยละ 41.5 รองลงมาคือ อายุ 10-14 ปี ร้อยละ 35.8 จากการชวนกันไปเล่นน้ำเองเป็นกลุ่มตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และพบเสียชีวิตตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป 9 เหตุการณ์ เสียชีวิตรวม 19 ราย ส่วนใหญ่จากการฝ่าฝืนเล่นน้ำในจุดแจ้งเตือนอันตราย ขอให้พ่อ-แม่ ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือไม่ควรปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพังแม้จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือที่คุ้นเคยก็ตาม หากพาเด็กไปประกอบอาชีพใกล้แหล่งน้ำควรให้เด็กอยู่ในระยะที่แขนเอื้อมถึงตัวเด็ก ขอความร่วมมือชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป้องกันเด็กจมน้ำ เฝ้าระวัง สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน ติดตั้งป้ายแจ้งเตือน พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่เป็นวัสดุท้องถิ่นลอยน้ำได้ไว้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งน้ำและทะเล ผู้ให้บริการ หน่วยงานท้องถิ่นควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard) ดูแลตลอดเวลา
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การป้องกันเด็กจมน้ำเบื้องต้นคือ สอนให้เด็กสามารถประเมินแหล่งน้ำเสี่ยงต่างๆ ต้องปฏิบัติตามป้าย สัญลักษณ์เตือน และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด ไม่ฝ่าฝืนลงเล่นน้ำ ณ จุดแจ้งเตือนอันตราย สอนเด็กให้รู้จักการใช้อุปกรณ์ลอยน้ำในการลอยตัวเพื่อช่วยเหลือตนเองและนำติดตัวไปด้วย เช่น ขวดน้ำพลาสติก/แกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา หรือวัสดุท้องถิ่นที่ลอยน้ำได้ เช่น ลูกมะพร้าว พอนจาก และยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” หากเป็นเด็กให้ตะโกนเรียกผู้ใหญ่มาช่วย โดยโยนอุปกรณ์หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ใกล้ตัวช่วยเกาะ จับ พยุง เช่น ถังแกลลอนหรือขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา หลายๆ ชิ้น และยื่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้าให้จับเพื่อดึงขึ้นจากน้ำ กรณีผู้จมน้ำที่ช่วยเหลือขึ้นมาแล้วไม่หายใจให้รีบทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยเป่าปากและกดหน้าอก ห้ามจับอุ้มพาดบ่าหรือกระแทกเอาน้ำออกเนื่องจากเป็นวิธีผิด และรีบโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669
**********************************2 พฤษภาคม 2562