กระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง แจ้งทุกจังหวัดเร่งรัดมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่หรือปอดอักเสบอย่างเคร่งครัด เพื่อการรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว หากพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคน เผยขณะนี้สำรองยาไว้ 2 ล้านเม็ด ส่งให้โรงพยาบาลทุกแห่งแล้ว ยืนยันจะใช้ยาต้านไวรัสผู้ที่สัมผัสไก่ป่วยหรือตายและผู้ที่มีประวัติปอดอักเสบ หวั่นเชื้อดื้อยา นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมการ ควบคุมภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยหยุดการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก มีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มาตั้งแต่ปี 2547 ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ ไข้หวัด และมีประวัติสัมผัสไก่ตาย จะส่งเสมหะตรวจทุกราย ซึ่งในปี 2547 ส่งตรวจ 10,000 ราย พบผู้ป่วย 17 ราย ปี 2548 ส่งตรวจ 8,000 ราย พบผู้ป่วย 5 ราย ปี 2549 ส่งตรวจ 5,000 ราย พบผู้ป่วย 3 ราย และในปี 2550 ส่งตรวจ 2,100 ราย ไม่พบผู้ป่วย นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือแจ้งสาธารณสุขทุกจังหวัด ให้ตื่นตัวในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและการระบาดของไข้หวัดใหญ่ โดยเร่งรัดมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่หรือปอดอักเสบอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สามารถตรวจจับโรคไข้หวัดนกได้แต่เนิ่น ๆ เพื่อนำไปสู่การสอบสวน ควบคุม การแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ ตลอดจนการรักษาผู้ป่วยที่เหมาะสม รวดเร็ว สำหรับการเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคไข้หวัดนก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยในการบริโภคไก่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ได้เน้นขอความร่วมมือทุกจังหวัดดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรณรงค์ล้างทำความสะอาดสถานประกอบกิจการฆ่าสัตว์ปีก แผงฆ่า/ชำแหละ และจำหน่วยสัตว์ปีกในตลาด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการดูแลปรับปรุงสถานประกอบการเพื่อการป้องกันโรคไข้หวัดนก และแนะนำประชาชนในการบริโภคเนื้อไก่หรือเป็ดที่ปรุงสุก นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า จากผลการประชุมคณะกรรมการควบคุมภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขในวันนี้ได้สรุปว่า มาตรการและแนวทางที่ได้ดำเนินการนั้น มีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคไข้หวัดนก ดังจะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมาเป็นเวลา 17 เดือนแล้ว และขณะนี้กรมควบคุมโรคได้สำรองยาต้านไวรัสโอเชลทามิเวียร์ไว้ประมาณ 2 ล้านเม็ด โดยส่งให้โรงพยาบาลทุกแห่งสต็อกไว้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่สำนักงานควบคุมโรคและส่วนกลาง โดยเฉพาะมาตรการการให้ยา ยืนยันจะให้ยาเฉพาะผู้ที่สัมผัสไก่ป่วยหรือตายและผู้ที่มีประวัติปอดอักเสบ เนื่องจากการให้ยาพร่ำเพรื่อเชื้ออาจจะดื้อยาได้ ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อมซ้อมแผนรับมือไข้หวัดนก ทั้งในระดับกระทรวงและจังหวัดมีการซ้อมปีละ 1 ครั้ง ในระดับรัฐบาลได้กำหนดการซ้อมแผนอยู่ในยุทธศาสตร์ระดับประเทศแล้ว นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าว ******************************** 28 มกราคม 2551


   
   


View 14    28/01/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ