กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็กป่วยโรคมือเท้าปาก ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน คัดกรองและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

         นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สถานศึกษาเปิดภาคเรียน ประกอบกับเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศที่เย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งโรคที่ควรระวังในเด็กเล็กคือ โรคมือเท้าปาก เนื่องจากมีโอกาสเกิดการแพร่กระจายโรคได้ง่าย ข้อมูลสำนักระบาดวิทยาในปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 19 พฤษภาคม 2562 มีผู้ป่วยสะสม 11,107 ราย พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 1 – 3 ปี คิดเป็นร้อยละ 93 โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และชุมชน ซึ่งโรคมือเท้าปากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค วิธีที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล จึงขอให้ครูพี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล หมั่นคัดกรองและดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข

          ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากจากเชื้อไวรัสที่ติดมากับมือ การใช้ช้อน แก้วน้ำร่วมกัน หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพองแผลในปาก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย บางรายอาจมีไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ ที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และภายในช่องปาก ลิ้น และกระพุ้งแก้ม โดยตุ่มพองในปากจะอักเสบ แดง และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น  โดยทั่วไปจะหายเองภายใน 7-10 วัน แต่หากอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ แขนขาอ่อนแรงกินอาหารหรือนมไม่ได้ ให้รีบพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที  

          สำหรับมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน คือ 1.ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า 2.ให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ เช่น ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องส้วม เป็นต้น 3.เด็กป่วยให้แจ้งผู้ปกครองรับกลับ และหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้าน 4.ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือ ของใช้ ของเล่นเป็นประจำทุกสัปดาห์ และทุกครั้งที่พบมีเด็กป่วย 5.หากพบเด็กป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที และพิจารณาปิดห้องเรียน หรือปิดโรงเรียนชั่วคราวประมาณ 5-7 วันหากมีเด็กป่วยหลายห้อง และ 6.จัดประชุมอบรมให้ความรู้ผู้ปกครองอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ ควรดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคมือเท้าปากเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 ***********************************  24 พฤษภาคม 2562



   
   


View 1989    24/05/2562   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ