“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเตือนหากป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูงลอยมากกว่า 2 วัน อาจเป็นไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์ ห้ามกินยาแก้ปวด ลดไข้ แอสไพรินหรือไอบูโปรเฟน พร้อมเข้มมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค” กำจัดลูกน้ำยุงลายในโรงพยาบาล
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกชุกบางพื้นที่ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้น ข้อมูลกรมควบคุมโรคตั้งแต่ 1 มกราคม – 28 พฤษภาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก 23,622 ราย เสียชีวิต 30 ราย อัตราป่วยสูงสุดพบในภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด โรคอ้วน เบาหวาน ไทรอยด์และโรคหอบหืด
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า จากการประชุมวิดีโอทางไกลที่ผ่านมา ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศกำชับให้สื่อสารเชิงรุกถึงมาตรการรักษาผู้ป่วยถึงคลินิกเอกชนและร้านขายยา หากพบผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้นต้องแนะนำให้ไปโรงพยาบาล ห้ามฉีดยา ห้ามจ่ายยา กลุ่มแก้ปวดลดไข้ต้านการอักเสบ หรือกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากจะเป็นอันตรายหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก ด้านอาการหลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5 - 8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย อุณหภูมิ 38.5 – 40.0 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 - 7 วัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็กตามแขน ขา ลําตัว หากมีอาการไข้สูง 2 วันไข้ไม่ลด ขอให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับการดูแลในช่วงป่วย ควรดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่บ่อยๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้ รับประทานอาหารอ่อนและกินยาตามแพทย์สั่ง ห้ามกินยาแอสไพรินหรือไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ในช่วงไข้ลดระมัดระวังอาการอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดภาวะช็อคได้ หากผู้ป่วยมีอาการซึม อ่อนเพลีย มือเท้าเย็น เลือดกําเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดและอุจจาระเป็นสีดํา ให้รีบนําส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีและลดการเสียชีวิต
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้กำชับมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่เป้าหมาย 6 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) โดยยึดหลัก “3 เก็บ 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย 2.เก็บขยะให้เกลี้ยงไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ 3.เก็บปิดน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ รวมทั้งจุดที่มักมองข้ามภายในบ้าน เช่น แก้วน้ำ แจกันหน้าหิ้งพระและศาลพระภูมิ ควรล้างและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ ช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมถึงให้ทุกจังหวัดชี้เป้าตำบลที่ระบาดและดำเนินมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ และให้อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ป้องกันการระบาด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ทั้งนี้ ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*************************** 4 มิถุนายน 2562