กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง พร้อมรับมือโรคไข้หวัดนกในคน เน้นหากพบผู้ป่วยให้ใช้มาตรการดูแลขั้นสูงสุด ตามมาตรฐานสากล เนื่องจากโรคนี้มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 50-60
เช้าวันนี้(1 กุมภาพันธ์ 2551) ที่โรงพยาบาลสุโขทัย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ประจำทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร เพื่อชี้แจงมาตรการความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วย หากพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคน
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า แม้ว่าในรอบ 17 เดือนหลังพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 จะยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ก็ตาม แต่ในระยะนี้กรมปศุสัตว์รายงานพบมีสัตว์ปีกป่วยตายในหลายจังหวัดกระจายในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกใน 2 จุด อยู่ระหว่างเฝ้าระวัง 21 วัน คือที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ และ อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร สถานการณ์นิ่งนอนใจไม่ได้ อาจจะมีความเสี่ยงการติดเชื้อมาสู่คนได้ จึงได้เร่งรัดให้สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เฝ้าระวังโรคอย่างเคร่งครัด สามารถคัดกรองหาผู้ป่วยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสม รวดเร็ว และควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว
ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ได้กำหนดแนวทางวินิจฉัยโรคเบื้องต้น 3 ประการคือ อาการป่วย ซึ่งมักจะมีไข้สูง ไอ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ หนาวสั่น ประกอบกับประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมห้องแยกปลอดเชื้อสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะกว่า 600 แห่ง เน้นมาตรการขั้นสูงสุดตามหลักสากล มีการฝึกอบรมแพทย์พยาบาล และทีมงานควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเพิ่มความพร้อม ความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยให้มีชีวิตรอดให้มากที่สุด เนื่องจากโรคนี้มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 50-60 โดยได้เตรียมยารักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งหมด 2 ล้าน 4 แสนเม็ด สำรองไว้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งแล้ว และจัดทำคู่มือทางวิชาการในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรวมทั้งไข้หวัดใหญ่ด้วย ส่งให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นมาตรฐานเดียวกัน
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับในชุมชนได้ให้ อสม. 8 แสนกว่าคน เคาะประตูบ้านที่ดูแล คนละ 10 หลังคาเรือนทุกหมู่บ้าน ติดตามการป่วยตายของสัตว์ปีกและการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในคน หากมีให้รีบพาไปตรวจรักษาขั้นต้นที่สถานีอนามัยตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน กระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือทุกจังหวัด ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น เทศบาล เจ้าของตลาดสด จัดการรณรงค์ล้างตลาดสด โรงฆ่าสัตว์ปีก รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการดูแลปรับปรุงสถานประกอบการ เพื่อการป้องกันโรคไข้หวัดนก และแนะนำให้ความรู้ประชาชนในการบริโภคเนื้อไก่ หรือเป็ดที่ปรุงสุกเท่านั้นและสะอาด ตั้งแต่เนิ่นๆแล้ว
****************************** 1 กุมภาพันธ์ 2551
View 10
01/02/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ