องค์การอนามัยโลกเผยอีก 23 ปีข้างหน้า โรคมะเร็งจะชีวิตจากโรคมะเร็งกว่า 11 ล้านคน เหตุจากควันบุหรี่มือสอง ขณะนี้พบเด็กทั่วโลกกว่า 700 ล้านคนได้รับผลกระทบ ปอดเจริญไม่ดี ป่วยง่าย เร่งรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกให้ทุกสถานที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ เผยประเทศไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเกือบ 70,000 คน พบมะเร็งปอดสูงสุด
วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2551) ที่สวนวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ)เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็งเนื่องในวันมะเร็งโลก เพื่อสร้างกระแสการตื่นตัวและดูแลใส่ใจ เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับโรคมะเร็งมากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกหรือฮู (WHO:World Health Organization)ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก(world Cancer Day) ในปีนี้ได้กำหนดแนวทางการรณรงค์เพื่อต่อต้านและป้องกันโรคมะเร็งว่า หนูรักชีวิตสดใส ไร้ควันบุหรี่ ในวัยเด็ก(Smoke-free for childhood)เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกสถานที่ เป็นเขตปลอดบุหรี่ ป้องกันภัยจากบุหรี่มือสอง โดยเน้นที่กลุ่มเด็ก เนื่องจากพบว่าเด็กประมาณ 700 ล้านคนหรือครึ่งหนึ่งของเด็กทั่วโลก ได้รับพิษจากควันบุหรี่โดย ผู้สูบบุหรี่รอบข้างหรือบุหรี่มือสอง ทำให้มีปัญหาสุขภาพหลายด้านคือ ปอด มีการเจริญเติบโตช้า ติดเชื้อทางเดินหายใจ ติดเชื้อที่หูส่วนกลาง และเป็นโรคภูมิแพ้ง่ายกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสอง
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ล่าสุดในปีพ.ศ. 2550 ทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคนี้เกือบ 8 ล้านคน หรือร้อยละ 13 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด กว่า 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิต อยู่ในประเทศที่มีฐานะยากจนและมีรายได้ระดับปานกลาง โดยมะเร็ง 5 ชนิดที่พบมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งปอด เสียชีวิต ปีละ 1.3 ล้านคน รองลงมาคือมะเร็งกระเพาะอาหาร ปีละเกือบ 1 ล้านคน มะเร็งตับปีละ 662,000 คน มะเร็งลำไส้ใหญ่ปีละ 655,000 คน และมะเร้งเต้านมปีละ 502,000 คน องค์การอนามัยโลกคาดการณ์โรคมะเร็งจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในพ.ศ. 2558 จะมีคนเสียชีวิตเพิ่มเป็น 9 ล้านคน และในอีก 23 ปีหรือ พ.ศ.2574 จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 11.4 ล้านคน
สำหรับประเทศไทยในปี 2549 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 66,000 ราย โดยในผู้ชายพบมะเร็งปอดมากที่สุด 5,535 ราย รองลงมาคือโรคมะเร็งตับ ส่วนผู้หญิงพบมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด 1,484 ราย รองลงมาคือ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งระดับชาติ ที่มีความเชื่อมโยงเชิงนโยบายในระดับโลกร่วมกับองค์การอนามัยโลก โดยเน้นที่การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยเฉพาะบุหรี่นั้นถือว่ามีความก้าวไกลมาก ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551นี้ จะเพิ่มพื้นที่คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 โดยกำหนดให้สถานบันเทิงประเภทผับ บาร์ ร้านอาหาร ตลาดทุกประเภท ทั้งตลาดสด ตลาดขายเสื้อผ้า รวมถึงตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาดนัดเปิดท้ายขายของต่างๆ ด้วย บังคับทั้งที่ติดแอร์และไม่ติดแอร์ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้
จะมีโทษปรับตามกฎหมาย โดยเจ้าของ ผู้ดูแลสถานที่ มีโทษปรับ 20,000 บาท ส่วนประชาชนที่สูบในเขตห้ามจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ถือว่าเป็นการคุ้มครองสุขภาพของคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ 53 ล้านคน ให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่มือสอง
การรณรงค์เนื่องในวันมะเร็งโลกครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยตอกย้ำให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป มีความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ มีความตื่นตัวที่จะลด ละ เลิกสูบบุหรี่ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งทั้งต่อตนเองและบุคคลที่อยู่รอบข้าง โดยมีภาคประชาชนช่วยผลักดัน
ทางด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อาหารที่รับประทาน ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ได้รับมลพิษจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงควันบุหรี่ซึ่งเป็นแหล่งของสารก่อมะเร็งที่สำคัญที่สุดในมนุษย์ ซึ่งมีกว่า 50 ชนิด และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอดและมะเร็งอื่นๆอีกหลายชนิด ทั้งผู้ที่สูบและผู้ที่อยู่รอบข้าง
นายแพทย์ชาตรีกล่าวต่อว่า ควันพิษจากบุหรี่ จะไปทำลายเซลล์ที่มีความสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในร่างกาย ดังนั้นในแต่ละวันที่มีการสูบบุหรี่ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด ก็เหมือนกับการทำลายกลไกป้องกันโรคมะเร็งลดน้อยลงไปด้วย โดยมีข้อมูลการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่า คู่สมรสของผู้ที่สูบบุหรี่ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคู่สมรสที่ไม่สูบถึง 2 เท่าตัว มีโอกาสเสียชีวิตเร็วขึ้นกว่าปกติถึง 4 ปี หากผู้ใหญ่ได้รับควันบุหรี่ในบ้านหรือในที่ทำงาน จะเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 โดยควันของบุหรี่จะก่อให้เกิดผลกระทบทันทีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 25-30 ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ที่สูดควันบุหรี่มือสอง ทำให้เสี่ยงการแท้งลูก เด็กน้ำหนักตัวน้อย เสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในเด็กหรือ ที่เรียกว่า โรคซิดส์ (SIDS) สูงขึ้น ส่วนในเด็กเล็กจะเกิดการเจ็บป่วยง่ายจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่นหลอดลมอักเสบ ปอดบวมสูงกว่าเด็กทั่วไปด้วย
กิจกรรมภายในงานวันนี้ มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งแบบครบวงจร ตรวจสุขภาพเบื้องต้น เล่นเกมส์ชิงรางวัล และพูดคุยกับดาราเด็กที่มาร่วมรณรงค์ โดยได้รับความร่วมมือจาก มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และสถานการศึกษาอีก 8 แห่ง
........................................... 3 กุมภาพันธ์ 2551
View 13
03/02/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ