“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาเทคโนโลยีในระบบบริการ เพิ่มความสะดวกสบายประชาชน ง่ายต่อการเข้าถึงการรักษา ลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่
วันนี้ (1 สิงหาคม 2562) ที่ โรงพยาบาลตรัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน พร้อมสนับสนุนการทำงาน และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้สถานบริการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มคุณภาพระบบบริการและความสะดวกสบายในการรับบริการของประชาชน ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการ ลดภาระการเดินทางไปสถานพยาบาล และลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ เช่นที่โรงพยาบาลตรัง ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและงานบริการแผนกผู้ป่วยนอกอย่างเต็มรูปแบบ สามารถลดขั้นตอนบริการจาก 12 ขั้นตอน เหลือ 6 ขั้นตอน พัฒนาฉลากยาพูดได้ด้วยการสแกนคิวอาร์โค๊ดที่ ซองยา รวมทั้งเริ่มบริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาเดิมโดยไม่ต้องพบแพทย์ ช่วยลดภาระการเดินทาง เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับโรงพยาบาลอื่น
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถนัดคิวตรวจรักษาล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ หรือไลน์ แอปพลิเคชัน MOPH Connect ซึ่งจะแจ้งเตือนคิวนัดล่วงหน้า 1 วัน เมื่อมารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนผู้ป่วยผ่าน “ตู้อัจฉริยะ” (Kiosks) สามารถรับบัตรคิวอัตโนมัติ ตรวจสอบนัด สิทธิการรักษา มีระบบการแจ้งเตือนคิวรับบริการ รับยา ค่าใช้จ่ายผ่าน Line Notify ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลและสามารถทำกิจกรรมอื่นได้ระหว่างรอคิว เมื่อสแกนคิวอาร์โค๊ดที่ซองยา ผู้ป่วยสามารถรับฟังการใช้ยาที่ได้รับผ่าน smart phone ซึ่งมี 4 ภาษา จำนวน 13 ชื่อยา 37 รายการ รวมทั้งมีบริการคลินิกแพทย์เฉพาะทางนอกเวลา และคลินิกหมอครอบครัวอีก 6 แห่งกระจายอยู่ในชุมชนเมือง เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลการส่งต่อรักษากับโรงพยาบาลตรังโดยให้บริการตรวจโรคทั่วไป อาชีวเวชกรรม แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก นอกจากนี้ ได้เปิดบริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง คลินิกอายุรกรรม โรคประสาท เพื่อลดภาระการเดินทาง และลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งปกติมีผู้เข้ารับบริการถึง 2,200 – 2,300 คนต่อวัน
นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาโยงใต้ ซึ่งเป็นหน่วยปฐมภูมิในทีมคลินิกหมอครอบครัวโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกหล่อ เครือข่ายโรงพยาบาลตรัง ให้บริการงานรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมโรค คลินิกพิเศษโรคเรื้อรัง ทันตกรรม แพทย์แผนไทยและกายภาพบำบัด ให้กับชาวบ้านในชุมชน ให้เข้าถึงการบริการและลดการไปรับบริการในโรงพยาบาลที่ไม่จำเป็น
************************************** 1 สิงหาคม 2562
******************************************