“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี หรือ Street Food ใช้ป้ายสัญลักษณ์ “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” (Clean Food Good Taste : CFGT) ให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย
บ่ายวันนี้ (15 สิงหาคม 2562) โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ภายใต้โครงการพัฒนาการจัดการอาหารริมบาทวิถีปลอดภัย สร้างเสริมสุขภาพ และสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความร่วมมือในการดำเนินงาน นำรูปแบบไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมีภาคีเครือข่ายจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมฯ สมาคมฯ แกนนำผู้ประกอบการอาหารริมบาทวิถี และศูนย์อนามัยฯ ร่วมประชุมจำนวน 130 คน
ดร.สาธิตกล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมกินอาหารมื้อหลัก อาหารปรุงสำเร็จ หรือ Ready to Eat ที่ร้านหรือแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีหรือ Street Food มากขึ้น ข้อมูลปี 2561 มีแผงลอยจำหน่ายอาหาร 93,261 แห่ง ผ่านมาตรฐานอาหารสะอาดรสชาติอร่อย 79,012 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 84.72 รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยในการบริโภค ไม่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ รักษาเอกลักษณ์ของอาหารริมบาทวิถีในแต่ละพื้นที่ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกัน เป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม โดยให้หน่วยงานภาครัฐบูรณาการกับภาคีเครือข่าย เช่น ชมรม/สมาคมผู้ประกอบการอาหารริมบาทวิถี ชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรม ร่วมกันพัฒนาอาหารริมบาทวิถีในพื้นที่ให้ได้มาตรฐานสุขลักษณะและสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น การจัดงานเทศกาลต่างๆ ส่งเสริมการแต่งกายพื้นเมือง และมีการจำหน่ายอาหารประจำถิ่น
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า ในปี 2562 จะเน้นการพัฒนาระบบและกลไกการดำเนินงานอาหารริมบาทวิถีให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืนในระดับพื้นที่ โดยให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย ให้นำรูปแบบการดำเนินงานของพื้นที่ต้นแบบในปี 2561 ซึ่งได้พัฒนาจนประสบผลสำเร็จแล้วมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อพัฒนาและยกระดับสู่มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ทั้งด้านสุขลักษณะ ความปลอดภัยและส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพด้านโภชนาการ มีการจำหน่ายอาหารประเภทผัก ผลไม้มากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะถอดบทเรียนการดำเนินงานในพื้นที่มาพัฒนาเป็นกฎหมายต่อไป
ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้จัดทำโครงการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีปลอดภัย สนับสนุนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยววิถีไทย เพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดบริการอาหารริมบาทวิถี ที่ได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของพื้นที่ ดำเนินการในพื้นที่เดิมปี 2561 จำนวน 12 จังหวัดที่ได้พัฒนาเป็นต้นแบบ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ชลบุรี บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง และสงขลา และในปี 2562 จะขยายพื้นที่ดำเนินการใหม่อีก 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน แพร่ ชัยนาท ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ ขอนแก่น นครพนม ชัยภูมิ ยโสธร กระบี่ และสตูล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
************************ 15 สิงหาคม 2562
*********************************************