“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เชิญ 500 ร้านขายยาเครือข่ายโรงพยาบาล 50 แห่ง ชี้แจงแนวทางจ่ายยาให้ผู้ป่วยใกล้บ้าน ตามนโยบายลดความแออัดโรงพยาบาล ให้เป็นตามมาตรฐานสภาวิชาชีพ
วันนี้ (19 กันยายน 2562) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แก่ เภสัชกรห้องยา เภสัชกรร้านขายยา (ข.ย.1) โดยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน ร่วมประชุมจำนวนกว่า 500 คน
นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มความสะดวกบริการประชาชน โดยให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยารับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ได้มาตรฐาน GPP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการพัฒนาระบบบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีสภาวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นผู้กำกับคุณภาพบริการร้านยา โดยจะนำร่องในร้านยา 500 แห่งทั่วประเทศ ที่เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 50 แห่ง และจะทยอยดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตามความพร้อมของโรงพยาบาล ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา และลดการครอบครองยาเกินความจำเป็น
นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวต่อว่า เงื่อนไขการรับบริการขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วยเป็นหลัก ยาที่ผู้ป่วยได้รับจากร้านยาต้องเป็นตัวเดียวกันกับที่โรงพยาบาลจ่ายไว้เดิม เน้นผู้ป่วย 4 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืด โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่ม
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านยาที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน GPP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ร้านขายยา ข.ย.1) จำนวน 17,000 แห่ง ทั่วประเทศ (อ้างอิงจากสมาคมเภสัชกรรมชุมชน) หากร้านยาสนใจเข้าร่วมโครงการประสานงานได้ที่ โรงพยาบาลแม่ข่าย, กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต ในพื้นที่
********************************* 19 กันยายน 2562