“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโครงการรับยาใกล้บ้าน ตามนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล 1 ตุลาคมนี้ ถือเป็นวันเริ่มต้นระบบผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา เดินหน้าในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวชที่สนใจสอบถามโรงพยาบาลที่รักษา และรับยาที่ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ใกล้บ้าน ตั้งเป้าปี 2563 ดำเนินการครบใน 50 โรงพยาบาล 500 ร้านยา
บ่ายวันนี้ (1 ตุลาคม 2562) ที่ร้าน save drug center บิ๊กซี แจ้งวัฒนะ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศักดิ์ชัย กาญจวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และคณะ เปิดตัวโครงการรับยาใกล้บ้าน ตามนโยบายการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) และให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความพร้อมแล้วทั้งในส่วนโรงพยาบาลและร้านยา เพื่อเป็นทางเลือกในการรับยาหลังพบแพทย์ให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สมัครใจ ไม่ต้องรอคิวรับยา โดยแพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการคงที่ สามารถร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาได้ ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน ข.ย.1 ที่มีเภสัชกรประจำร้าน และจะมีป้ายสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ที่หน้าร้าน ขณะนี้มีโรงพยาบาลในต่างจังหวัดและกทม.ที่ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการแล้ว 35 แห่ง และร้านยากว่า 300 แห่ง จะดำเนินการให้ครบ 50 โรงพยาบาล 500 ร้านยา ในปีงบประมาณ 2563
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในช่วงเริ่มต้นโครงการจะดูแลผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และโรคทางจิตเวช รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่ซับซ้อน ยาที่ผู้ป่วยจะได้รับจากร้านยาในระยะแรกจะเป็นยาที่จัดส่งมาจากโรงพยาบาล เป็นยารายการเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย สิ่งสำคัญของโครงการนี้คือการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยในการส่งข้อมูล โดยโรงพยาบาลจะจัดส่งเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นของผู้ป่วยให้กับร้านยาเพื่อให้จ่ายยาและให้คำแนะนำกับผู้ป่วยได้ และจะมีการประเมินสุขภาพและความพึงพอใจหลังดำเนินโครงการเพื่อปรับปรุงด้านบริการของโรงพยาบาล เช่น มีเวลาดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อนมากขึ้น การควบคุมคุณภาพยาในหอผู้ป่วย เป็นต้น
“ผู้ป่วยที่สนใจสามารถสอบถามโรงพยาบาล ซึ่งจะมีรายชื่อร้านยา ข.ย.1 ให้เลือกตามความสะดวก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช.1330” นายอนุทินกล่าว
สำหรับ ร้าน save drug center บิ๊กซี แจ้งวัฒนะ เครือข่ายรับยาของโรงพยาบาลราชวิถีสำหรับผู้ป่วย 4 โรคในเขตหลักสี่ จำนวน 3,000 คน จากทั้งหมด 10,000 คน ยังมีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ในพื้นที่ กทม.
ที่เข้าร่วมโครงการอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตราชธานี ส่วนโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครที่ร่วมโครงการ จะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนมกราคม 2563
*************************************** 1 ตุลาคม 2562
******************************